ข่าวทั่วไป

ผวจ.ประจวบฯจ่อแจ้งความแบงค์ดังเอี่ยวคดีลูกจ้างสำนักงานจังหวัดโกงงบหลวง 40 ล้าน

ผวจ.ประจวบฯจ่อแจ้งความแบงค์ดังเอี่ยวคดีลูกจ้างสำนักงานจังหวัดโกงงบหลวง 40 ล้าน

จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี อดีตพนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง โดยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาว่านำเงินไปเล่นพนันออนไลน์ ต่อมาพนักงานอัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงครามมีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง พ้นการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 เนื่องจากอัยการฯยังไม่รับฟ้องคดี หลังครบกำหนดฝากขังครั้งละ 12 วัน จำนวน 7 ผัด รวม 84 วัน ทำให้ น.ส.ขนิษฐาได้รับการปล่อยตัวนานกว่า 2 เดือน

ความคืบหน้า วันที่ 2 ธันวาคม นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากจังหวัดส่งรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริต ส่งถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ขณะนี้กระทรวงฯมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางเพื่อสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้างานการเงิน หรือเจ้าหน้าที่รายอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการฯของกระทรวงฯจะสอบเพิ่มเติมในบางประเด็นก่อนมีผลสรุปว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าข่ายประมาทเลินเล่อมีความผิดวินัยร้างแรงหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะสอบสวนทางละเมิดเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กับทางราชการ

นายพัลลภ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีอาญาได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ส่งสำนวนการสอบสวนที่มีประเด็นเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการฯพิจารณาสั่งฟ้องเพื่อให้ศาลทำการไต่ส่วน จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ขณะนี้ทราบว่าสำนวนเสร็จแล้ว คงจะสั่งฟ้องได้เร็วๆนี้ สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้ จะต้องมีผู้ต้องหาเพิ่ม ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงบางราย ก็เป็นดุลพินิจของพนักงานอัยการฯจะสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพิ่มเติม

“ ส่วนปัญหาที่มีการตรวจสอบเช๊คเบิกจ่ายบางฉบับกับธนาคารแห่งหนึ่ง หากพบมีการลงลายมือชื่อปลอม ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางกฎหมาย หากพบเป็นความผิดจากการทำธุรกรรมการเงินโดยใช้เอกสารปลอม ซึ่งธนาคารจะต้องร่วมรับผิดชอบ และจังหวัดในฐานะผู้เสียหายก็จะต้องไปแจ้งความ ส่วนตัวไม่หนักใจกับคดีนี้ ทุกขั้นตอนเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ สำหรับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดกับหัวหน้าการเงินยังไม่ถูกสั่งย้าย เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเพิ่มเติม แต่สั่งการให้หัวหน้าการเงินไปทำหน้าที่อื่น “ นายพัลลภ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูง ระบุว่า สาเหตุที่คดีนี้ไม่มีความคืบหน้าและยืดเยื้อนานกว่า 6 เดือน ทำให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวนานกว่า 2 เดือน ซึ่งถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่แจ้งความเอาผิดข่าราชการระดับสูงรายหนึ่ง ที่มีผลสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการระดับจังหวัด ปรากฎชัดเจนว่ามีการมอบบัตรสมาร์ทการ์ดและรหัสผ่านให้ลูกจ้างทำการเบิกจ่าย เป็นสาเหตุสำคัญในการทุจริตของคดีดังกล่าว นอกจากนั้นการติดตามเส้นทางการเงินเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำเอกสารหลักฐานรวบรวมส่งพนักงานอัยการฯให้ครบถ้วน โดยเฉพาะฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 50 เครื่อง ที่ยึดมาจากบ่อนออนไลน์แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ได้ส่งให้พนักงานอัยการฯเพียง 4 เครื่อง โดยมีอดีตนายตำรวจระดับสูงรายหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องพยายามวิ่งเต้นล้มคดี

พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร 099 339 6444 รายงาน