ข่าวพาดหัวจับกุม

ครึ่งเดือนพฤษภา ศุลกากรจับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่า 12.32 ล้านบาท

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน อีกทั้งผู้กระทำความผิดยังมีการดัดแปลงรูปลักษณ์ภายนอกของบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความน่าสนใจหรือผสมยาเสพติดประเภทอื่นเข้าไปในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า


ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น ท่านนายกฯ จึงให้เร่งดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง โดยให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ซึ่งนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนและประชาชน ที่อาจได้รับสารพิษจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้เจ้าหน้าที่ตามด่านศุลกากรในพื้นที่ ตรวจเข้มกับสินค้าทุกประเภทที่อาจมีการซุกซ่อนบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในราชอาณาจักร ทางตู้สินค้าและพัสดุไปรษณีย์ รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า นอกจากนี้
ยังให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่ตรวจเข้มร้านค้า โกดัง ที่มีการข่าวแจ้งว่าอาจมีการลักลอบจำหน่ายหรือเก็บบุหรี่
ที่ไม่เสียภาษี บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ อีกด้วย

โดยตั้งแต่วันที่ 1– 17 พฤษภาคม 2567 กรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำบุหรี่
เข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 31 ราย ปริมาณ 1,189,700 มวน มูลค่า 6,730,518 บาท และบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 14 ราย ปริมาณ 35,336 ชิ้น มูลค่า 5,590,821 บาท รวมทั้งสิ้น 45 ราย ปริมาณ 1,225,036 ชิ้น มูลค่า 12,321,339 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว รายงาน