ข่าวพาดหัว

ร้อยเอ็ด – สีสันงานบุญบั้งไฟ หนึ่งเดียวในโลก พิธีบวชควายจ่า

วันที่ 8 มิถุนายน 2567 ณ.บ้านแมด ต.เชียงขวัญ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านได้ร่วมกันจัดประเพณีบุญบั้งไฟขึ้น ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8-9 มิถุนายน 2567 ซึ่งในวันนี้มีการจัดขบวนอย่างสวยงาม งานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี 2567 ที่มีการจัดต่อเนื่องกันมายาวนาน

โดยประเพณีดังกล่าวนี้ เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเพณีที่เก่าแก่ ที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวบ้าน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

โดยภายในงานมีทั้งขบวนแห่บั้งไฟสวยงามยิ่งใหญ่อลังการ มีขบวนเซิ้งบั้งไฟ
ทั้งนางรำและรถแห่ที่ประดับประดาด้วยบั้งไฟสีสันสวยงามสุดอลังการและยังมีการละเล่นพื้นบ้านแบบวิถีไทย

ไฮไลท์สำคัญ คือการบวชควายจ่า (ควายฮ้า ควายผิว ควายหลวง) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานภายในชุมชนบ้านเขือง บ้านแมด บ้านหวายหลึม บ้านหมูม้น เขตอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวในประเทศที่มีประเพณีการละเล่นนี้และยังคงอนุรักษ์สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อถวายเจ้าปู่ (ปู่เผ้าเจ้าโฮงแดง) ที่ชาวบ้านนับถือ เทวดาอารักษ์ ผีฟ้า ผีแถน ผู้บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งเพื่อการเกษตรกรรม การทำไร่ทำนา และคุ้มครองชาวบ้านคนในชุมชนให้มีความอยู่ดีกินดี ทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และการได้กลับมาตุ้มมาโฮมกันของบรรดาเครือญาติในวันงานอีกด้วย
ภายในชุมชน ก่อนถึงวันบวชควายจ่านั้น จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “มื้อออกเล่น” จะมีการส่งข่าวด้วยขบวนควายรอง แห่ขบวนไปยังหมู่บ้านต่างๆ เป็นการส่งข่าวงานบุญบั้งไฟที่กำลังจะมาถึง ซึ่งบุคลลที่จะเป็นควายจ่าตัวจริงและตัวรอง ต้องเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมาจากควายจ่าแต่เดิม นอกเสียจากจะขาดผู้สืบชื้อสายก็จะมีพิธีการเสี่ยงควายจ่าตัวใหม่ โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นควายจ่าจะทาตัวสีดำด้วยเขม่าก้นหม้อ (โบราณทาด้วยครามหม้อนิล) สวมหรือผูกด้วยเขาสี่ง่ามที่ศีรษะ คล้องตัวด้วยกระพรวนขนาดใหญ่หลายลูก ภายในขบวนประกอบไปด้วยผู้ร่วมมากมาย เช่น ควายจ่าตัวรอง เจ้าของควาย คนเลี้ยงควาย นางหว่า มีกลุ่มผู้ถืออาวุธต่างๆ ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับขบวนควาย มีการประโคมจังหวะด้วยเครื่องดนตรี อาทิ กลองเลง ฉาบ ฆ้อง พังฮาด ฯลฯ


เมื่อขบวนควายจ่าไปถึงหน้าบ้านหลังใด จะมีผู้คนนำปัจจัยหลายๆ อย่าง อาทิ เงิน เหล้า น้ำอัดลม ซึ่งสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ชุมชนจะเรียกว่า #หญ้า โดยเงินหรือหญ้าจะใส่ไว้ให้ควายจ่าตัวรองคาบด้วยปาก ส่วนสิ่งของที่หนักกว่า อาจจะใส่ไว้ให้เจ้าของควายหรือนางหว้าที่แต่งตัวเป็นหญิงกางร่มและแบกคอนตะกร้า
นอกจากขบวนควายจ่าที่เรียกว่า “#ควายหลวง” แล้ว ยังมีขบวนควายที่นิยมแห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเล่นขบวนควาย แต่คนภายในชุมชนจะรับรู้ร่วมกันว่า กลุ่มหรือขบวนนี้ไม่ใช่ควายหลวง แต่ก็ให้ปัจจัยเหมือนกัน เพราะถือว่า นี่เป็นประเพณีที่ละเล่นสืบต่อกันมาเพียงปีละหนช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหกเท่านั้น
นี่คือพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรมที่ผูกสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความรักความสามัคคี สร้างขวัญกำลังใจก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการเดินทางของชุมชนรอบข้างให้มีการรับรู้วิถีประเพณี สร้างความเข้มแข็งในหลายๆ เรื่องตามมา ในฐานะคนที่เดินทางเข้าไปเก็บเกี่ยวและเรียนรู้วิถีทางวัฒนธรรมนั้น ได้แต่หวังว่า ท่ามกลางวิถีการเดินทางของวัฒนธรรม เสน่ห์ของความเรียบง่ายจะไม่ถูกปรุงแต่งจนบิดเบือนจากรากเหง้าของวัฒนธรรมอันเก่าแก่จนเกินงาม

ภาพ::ศรัญญา ภูมิภาค
ข่าว::พงษ์พัฒน์ นามสอน