อ่างทอง – เจดีย์อัฐิพระราชมนูขุนศึกคู่พระทัยสมเด็จพระนเรศวรที่วัดช้างให้ เป็นขุนศึกและสมุหพระกลาโหมคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันที่ 28 มิ.ย. 67 ที่เจดีย์อัฐิ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่วัดช้าง (ช้างให้) ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เป็นเจดีย์รูปทรงกลม (ระฆังคว่ำ) สมัยอยุธยาตอนปลาย บรรจุอัฐิพระราชมนูทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรฯ พร้อมด้วยเจดีย์บรรจุอัฐิภรรยาพระราชมนู ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรฯ
ด้าน ดร.ธวัช ทองโอภาส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ เล่าให้ฟังว่า พระราชมนู นายกองทัพหน้า หรือที่รู้จักในภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในชื่อบุญทิ้ง หรือไอ้ทิ้ง นายกองเลือดเดือด ในสมัยอยุธยา พ.ศ.2128 มีการรบที่ทุ่งบางแก้ว พระราชมนู แม่กองระวังหน้า ได้ใช้วัดช้างเป็นที่ตั้งทับ 10,000 นาย โดยส่งกองทหารออกลาดตระเวนดูกองกำลังของกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ที่เป็นแม่ทัพหน้าพม่า ซึ่งการรบครั้งนี้ เป็นการรบแบบกองโจรครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำกองทัพไทยได้รับชัยชนะ
และทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชทรัพย์ มาปฏิสังขรณ์ วัดช้าง (ช้างให้) โดย พระราชมนู (เพชร) ให้พ่อครูดาบพลอย ใช้เรือกระแชงนำไปขนทองคำและพัสดุที่จำเป็นจากกรุงศรีอยุธยามาช่วยบูรณะ หลังจากเปลี่ยนแผ่นดินพระราชมนูได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งพระสมุหกลาโหม แล้วบวชอยู่ที่วัดช้างให้ จนสิ้นอายุขัย ทางคณะศิษย์และชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ พระราชมนู รูปทรงกลม (ระฆังคว่ำ) ตั้งไว้จนมาถึงปัจจุบัน
พระราชมนู หรือ ต่อมาคือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี เป็นขุนศึกและสมุหพระกลาโหมคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พงศาวดารว่าพระราชมนู เป็นทหารที่เก่งกล้าและมีความสามารถ นอกจากนั้นยังเป็นทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรอีกด้วย ซึ่งพระราชมนูมักออกศึกเคียงคู่พระนเรศวรในการตีเมืองต่างๆ เสมอ และสามารถชนะกลับมาได้เกือบทุกครั้ง รวมถึงศึกยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่ายอีกด้วยภายหลังพระราชมนูได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นออกญาพระสมุหกลาโหม แต่ประวัติของพระราชมนูมีอยู่น้อยมาก เพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารไม่กี่เล่ม พระราชมนูนั้น เคยรับพระราชบัญชาให้ไปตีเมืองๆหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า) ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ ในครั้งยังมียศเป็นคุณพระ ตอนนั้นองค์ดำเกรงว่าทัพน้อยของพระราชมนูจะไม่อาจเอาชัย จึงส่งทัพหลวงออกตามไปช่วย ปรากฏว่าเมื่อทัพหลวงไปถึง เมืองนี้ก็แตกเสียแล้ว ทัพหลวงไม่ต้องเข้าช่วยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พระราชมนูยังมีความบ้าบิ่นอย่างที่ใครๆ ในยุคนั้นไม่กล้า คือการขัดรับสั่งของพระนเรศวรในคราวตามเสด็จศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งพระราชมนูขัดรับสั่งถอนทัพโดยกล่าวว่า การรบกำลังติดพัน กลัวว่าถอยแล้วจะเป็นเหตุให้ข้าศึกตามตี เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระองค์จึงได้ปูนบำเหน็จให้พระราชมนูขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี ที่สมุหพระกลาโหม พระราชทานพานทอง น้ำเต้าทอง เจียดทองซ้ายขวา กระบี่ ฝวักทองและเครื่องอุปโภคต่าง ๆ
ดร.ธวัช กล่าวต่อว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนไทยมีอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นศูนย์รวมบรรพชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ อันเป็นต้นแบบในการดำรงชาติ ซึ่งเกิดจากความกล้าหาญ ความเสียสละด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อลูกหลานไทย จำนวน 12 ท่าน ขนาดองค์มีความสูง 3 เมตร เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี สมุหพระกลาโหม (พระราชมนู) ออกพระวิเศษไชยชาญ พระยาพิชัยสงคราม หรือขุนรองปลัดชู พันท้ายนรสิงห์ ขุนรัตนาวุธ พระอาจารย์ธรรมโชติ ปู่ดอก ปู่แก้ว ปู่แท่น ปู่อิน ปู่เมือง ปู่โชติ
กนกศักดิ์ / อ่างทอง