ศปน.ตร. ทลายบริษัท เงินกู้รายใหญ่ คิดดอกเบี้ยโหด ดำเนินงานโดยนายทุนต่างชาติ พบเงินหมุนเวียนในบัญชีหลายร้อยล้านบาท
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 21 ธ.ค. ที่บก.ปอศ. พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผบ.ตร.ในฐานะผอ.ศปน.ตร. (ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปน.ตร. ) พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ก.ตร. พล.ต.ต.สุภธีร์ บุญครอง รองผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5บก.ปอศ. ร่วมกันแถลงข่าวผลการทลายแก๊งเงินกู้นอกระบบชื่อ “RICH MONEY” พร้อมของกลางคอมพิวเตอร์แบบพกพา พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง จำนวน 63 เครื่อง,โทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมซิมการ์ด จำนวน 76 เครื่อง,อุปกรณ์แปลงค่าไอพีแอดเดรส ,เครื่องปฏิบัติการส่งข้อความอัตโนมัติ ไม่ทราบยี่ห้อ พร้อมซิมการ์ดในเครื่อง บรรจุ 8 ซิม จำนวน 1 เครื่อง,ตรายางบริษัท จำนวน 2 อัน,เอกสารเกี่ยวกับการว่าจ้างพนักงาน จำนวน 58 แฟ้ม,เอกสารคู่มือเกี่ยวกับการทวงหนี้ จำนวน 62 แผ่น,สมุดบัญชีเงินฝาก จำนวน 1 เล่ม
เอกสารหนังสือรับรอง บริษัท ที่พึ่ง จำกัด จำนวน 1 ชุด
และสมุดบันทึกการทำงานของพนักงาน จำนวน 2 เล่ม รวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท
สืบเนื่องจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019(โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยจัดตั้ง ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปน.ตร. ขึ้น ดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพล บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน
ต่อมาทางศปน.ตร. ได้รับร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ว่าได้มีการกู้ยืมเงินผ่านแอพพลิเคชั่นริชมั่นนี่ ซึ่งมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยพบมีการให้สินเชื่อบุคคล ตั้งแต่ 2,000 – 50,000 บาท ระยะเวลาชำระหนี้ภายใน 7 วัน โดยหากกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินจริงเพียง 1,220 บาท หักเป็นค่าบริการ 780 บาท หรือ ร้อยละ 39 ต่อ 7 วัน เฉลี่ย ร้อยละ 2,067 ต่อปี โดยใช้วิธีการให้ผู้กู้ติดตั้ง Application ลงในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อกู้ผ่านแล้วจะถูกหักค่าบริการออกจากเงินกู้ แต่ลูกหนี้ยังต้องชำระเงินเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระตามกำหนดเวลา จะมีการทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ ด่าทอ คุกคาม และมีการส่งข้อความ SMS เกี่ยวกับการเป็นหนี้ให้แก่บุคคลที่สาม ทำให้ผู้กู้ได้รับความอับอาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงได้ดำเนินการสืบสวนเรื่อยมา กระทั่งสืบทราบว่าขบวนการดังกล่าวใช้อาคารเอสวีทาวเวอร์ ห้องแถวเลขที่ F1 ชั้น 1 ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้ง จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. พร้อมหมายค้นของศาลเข้าปฏิบัติการตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีพนักงานคนไทยนั่งทำงานอยู่รวมทั้งสิ้น 59 คน โดยมีนายภูวนาท สงวนนามสกุล อายุ 42 ปี ทำหน้าที่ฝ่ายบุคคล,น.ส.พวงพรรณ สงวนนามสกุล อายุ 33 ปี ทำหน้าที่ธุรการ และประสานงานกับเจ้าของกิจการชาวจีน,นายทรงกรต สงวนนามสกุล อายุ 23 ปี ทำหน้าที่ดูแลพนักงานทวงถามหนี้ แก้ไขปัญหาในการทำงาน และน.ส.ธิติมา สงวนนามสกุล อายุ 31 ปี ทำหน้าที่ดูแลพนักงานทวงถามหนี้ พร้อมทำการยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวมีนายทุนเป็นชาวจีน จึงรวบรวมหลักฐานออกหมายจับนายเซี่ย จั้ว เสียง (XIE ZUO XIANG) นายหลัว เหมิง เหมิง (LUO MENG MENG) นายลี่ เค่อ หยู (LI KE YU) สัญชาติจีน และนางโซเพียค เวิน (SOPHEAK VOEURN) สัญชาติกัมพูชา
ซึ่งภายหลังนายเซี่ย จั้ว เสียง และนายหลัว เหมิง เหมิงได้ติดต่อขอมอบตัว แจ้งข้อหา “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด”
รองผบ.ตร.กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากพบการกระทำความผิดอื่น หรือมี
ผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม จะได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มและดำเนินคดีในทุกฐานความผิด ขอให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ หรือได้รับความเสียหายจากการกู้ยืมเงินผ่าน Application ดังกล่าว เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีและให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“จากคดีนี้จะเห็นว่า ปัจจุบันกลุ่มนายทุนเงินกู้นอกระบบเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งได้เข้ามาหาประโยชน์เอารัดเอาเปรียบประชาชนที่กำลังเดือดร้อน มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการกระทำความผิด ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนเป็นจำนวนมากได้โดยง่าย ส่งผลให้เกิดความเสียหายในภาพรวมเป็นวงกว้าง อีกทั้งจัดตั้งบริษัทอื่นบังหน้าเพื่อทำหน้าที่ทวงถามหนี้ทวงหนี้แทน เพื่อปกปิดอำพรางความผิด ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามีแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบที่อยู่ในเครือข่ายอีกจำนวนมาก เช่น RICH MONEY , BIG MONEY , 365 LOAN , SUPER LOAN , CASH HOME , CASH ME , TRACK MONEY QUICK รวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ศปน.ตร. ยังได้สั่งการไปยังทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้ระดมกวาดล้างหนี้นอกระบบ ในระหว่างวันที่ 18-24 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการตัดช่องโอกาสการเกิดอาชญากรรมอื่นๆ โดยขณะนี้ผ่านไป 3 วัน ได้เข้าทำการตรวจค้น เป้าหมายจำนวน 122 เป้าหมาย ทำการจับกุมผู้ต้องหาและเครือข่าย จำนวน 12 เครือข่าย รวมผู้ต้องหา 48 คน ตรวจยึดเงินสด 124,110 บาท อาวุธปืน 2 กระบอก พบบัญชีลูกค้า 3,082 ราย รวมมูลค่าของกลางกว่า 6,200,000 บาท
โชติกา ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าว กทม.