ข่าวทั่วไป

กองทัพเรือ จัดทีมแพทย์สนับสนุน ศรชล. ตรวจโควิดลูกเรือประมงสมุทรสาคร

กองทัพเรือ จัดทีมแพทย์สนับสนุน ศรชล. ตรวจโควิดลูกเรือประมงสมุทรสาคร
วันนี้ (25 ธ.ค.63) กองทัพเรือ ได้จัดทีมแพทย์สนับสนุน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการตรวจเชื้อโควิด19 ลูกเรือประมง และแรงงานภาคพื้น ณ สะพานปลาสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล/ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการในที่ประชุมให้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพเรือ/ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ บูรณาการทำงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการร่วมสนับสนุนเฝ้าระวังป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวภาคประมง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา กรมแพทย์ทหารเรือ ได้ดำเนินการจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์สำหรับตรวจคัดกรองแรงงานประมง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสนับสนุนการตรวจแรงงานภาคประมง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

โดยกรมแพทย์ทหารเรือ ได้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) (ACF) โดยจัดกำลังพลจากกองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ กองเวชกรรมป้องกัน โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา จะดำเนินการตรวจลูกเรือประมง จำนวน 2,000 คน ตั้งแต่วันที่ 25 – 28 ธ.ค.63 โดยจะใช้เวลาทราบผล 3 วัน
นาวาเอก เอกภาพ สายโสภา รอง ผอ.ศรชล.จว.สมุทรสาคร ได้กล่าวว่า จากการที่ ศรชล.ได้รับการสนับสนุนทีมแพทย์จากกองทัพเรือนั้น จะสามารถช่วยให้การปฏิบัติงานของทีมสาธารณสุขรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยยืนยันถึงความปลอดภัยของลูกเรือประมงได้ว่า ไม่มีลูกเรือประมงคนใดติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเรือประมงทุกลำในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีกว่า 100 ลำ หลังจากที่ลูกเรือประมงได้รับการตรวจค้นหาเชื้อแล้ว จะออกไปทอดสมอ ลอยลำอยู่ที่ปากแม่น้ำท่าจีน เพื่อรอรับผลการตรวจ โดยจะมีเรือ ต.267 จาก ศรชล.ภาค 1 คอยดูแล ซึ่งหลังจากทราบผลตรวจเรียบร้อยแล้ว เรือประมงที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ จะสามารถทำการประมงได้เป็นปกติ และจะสามารถเทียบท่า เพื่อขนถ่ายสัตว์ทะเลเพียงเท่านั้น แต่จะไม่สามารถกลับขึ้นฝั่งได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับแรงงานที่อยู่บนบก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ภาพ/ข่าว ปชส.โฆษกกองทัพเรือ
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน