ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

อุบลราชธานี – ทิ้งกระจาดมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถานคึกคัก

ยุคข้าวยาก หมากแพง ผู้คนจำนวนมากแห่เข้าคิวรอรับข้าวสาร อาหารแห้ง ในงานพิธิทิ้งกระจาด มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อุบลราชธานี

เวลา 09.00 น. ที่ มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายจีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ เป็นประธานเปิดงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567 โดยมีนายเทียมชัย ประกิตชัยวัฒนา ประธานมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี และนายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ พร้อมสมาชิกให้การต้อนรับ ซึ่งมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมารอรับของแจก โดยพบบางรายเดินทางด้วยรถไฟมาไกลจาก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

นายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ กล่าวมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน จัดประเพณีทิ้งกระจาด หรือซิโกว ต่อเนื่องกันมายาวนาน 50 ปีแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและวิญญาณไร้ญาติ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติ พิธีทิ้งกระจาด หรือเทกระจาด นั้น เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่ง ที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน หรือเรียกกันว่า ซิโกว ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ทำบุญใหญ่ และถึงตรงแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และสัมภเวสีไร้ญาติทั้งหลาย เชื่อกันว่า ในเดือนเจ็ดนี้ เป็นช่วงที่ประตูนรกเปิด เพื่อให้ดวงวิญญาณทั้งที่มีญาติและไม่มีญาติ ได้มาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อมาเยี่ยมลูกหลาน สำหรับพิธีกรรมนั้น จะเริ่มจากอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสวดมนต์ เวียนธูป บางที่ 7 วัน บางที่ 3 วัน จนถึงวันสุดท้าย เป็นพิธีโปรดสัตว์ และเผากระดาษเซ่นไหว้ ซึ่งพับเป็นภูเขาเงิน ภูเขาทอง ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับและดวงวิญญาณไร้ญาติด้วย

สำหรับปีนี้ทางมูลนิธิได้เตรียมข้าวสารแจก คนละ 5 กิโลกรัม น้ำปลา น้ำมันพืช น้ำตาล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมกว่า 3,000 ชุด ไว้แจกจ่ายให้ประชาชนทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งจะแจกให้เป็นรายคนเลยไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในงานจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิมาคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและคนพิการตลอดเวลา

ขณะบรรยากาศการแจกของในพิธีทิ้งกระจาดยังพบว่ามีกลุ่มคนมาจากต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยอาศัยการเดินทางด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นการเดินทางราคาถูก เพื่อมารับของแจกกับทางมูลนิสว่างบูชาธรรม อุบลราชธานี โดยหลายๆคนกว่าว่า ในช่วงนี้ยุค ข้าวยาก หมากแพง สินค้าทุกอย่างแพงหมด โดยเฉพาะจำพวกข้าวสาร อาหารแห้ง แพงหมด ดังนั้นเพื่อเป็นการลดค่าครองชีพ เมื่อรู้ว่ามีงานพิธีทิ้งกระจาดของมูลนิธิฯ ที่อุบลราชธานี ก็คิดบวก – ลบ แล้วน่าจะประหยัดเงินได้มาก โดยเสียค่ารถไฟมาจากต่างจังหวัดเพียงไม่กี่สิบบาท แต่ได้รับของแจกเกินคุ้ม และ นำไปเลี้ยงคนในครอบครัวพอได้ประหยัดยาวไปอีกหลายวัน

ด้านนางทิน สระแก้ว อายุ 85 ปี ชาวอำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในผู้มารับสิ่งของในงานทิ้งกระจาดเผยว่า ตนและญาติๆ และคนในหมู่บ้านประมาณ 10 คน เดินทางด้วยรถไฟชั้น 3 จากอำเภอลำปลายมาศ เพื่อมารับของแจกทุกปี เพราะของที่ได้สามารถใช้ประกอบอาหารและช่วยประหยัดค่ายังชีพในครอบครัวได้ไปอีกหลายวัน ในยุคข้าวยากหมากแพงนี้