ข่าว – ไม่โกรธแค้นแต่ยังช่วยรักษา ช้างป่ากุยฯที่บาดเจ็บ
วันที่ 28 ธันวาคม นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามรักษาช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 20 – 25 ปี น้ำหนักประมาณ 3,000 กิโลกรัม ที่บาดเจ็บบริเวณขาพับในข้างขวาและขาขวามีอาการบวม ที่หมู่ 4 หมู่บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 63 ซึ่งวันนี้ช้างป่าตัวดังกล่าวได้ออกมาหากินใกล้สระน้ำบริเวณสวนยางพาราของชาวบ้านหมู่ 4 บ้านท่าวังหินบริเวณบริเวณพิกัด 580213E 1366320N จากการส่องกล้องดูพบว่าสุขภาพช้างโดยทั่วไปยังปกติ กินอาหารได้ไม่มีอาการซึมหรืออ่อนแอลง ในส่วนอาการบริเวณขาหน้าข้างขวา มีอาการบวมลดลงและมีแผลซึ่งมีลักษณะเป็นรูเล็กๆบาดแผลบริเวณขาดังกล่าวมีภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เนื่องจากช้างป่าจะออกมาแช่น้ำ อาจส่งผลให้แผลเกิดการเน่าเปื่อยได้ในอนาคต ในการรักษาเบื้องต้นทีมสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ได้ยิงลูกดอกที่ใส่ยาฆ่าเชื้อให้กับช้างป่า เป็นครั้งที่ 5 พร้อมกับให้ยากินแบบเม็ด ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ และวิตามินบำรุงร่างกายใส่ไว้ในผลไม้นำไปวางยังบริเวณที่ใกล้เคียงกับช้างอยู่เพื่อให้ช้างกินและเฝ้าติดตามอาการเป็นระยะ พร้อมกันนี้ นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกับราษฎรบ้านท่าวังหิน เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ชาวบ้านและช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามานอนใกล้บ้านชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและเพื่อเป็นการเพิ่มความอุ่นใจให้แก่ชาวบ้านด้วย พร้อมติดตามพฤติกรรมช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง
“นับตั้งแต่อุทยานรับแจ้งช้างป่าได้รับบาดเจ็บจนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 20 วันแล้ว ที่ทางทีมสัตว์แพทย์เข้ารักษาอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช้างป่าตัวดังกล่าวจะทำร้าย นายบุญชู โตเต็ม อายุ 58 ปี พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าชุดที่ 3 และหัวหน้าจุดสกัดท่ากระทุ่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยเหลือช้างบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่หลังจากงานศพผ่านไป นายธนา โตเต็ม พนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า ลูกชาย นายบุญชู โตเต็ม พร้อมหลานคนตาย นายชาญวิทย์ สิงห์เล็ก พนักงานที่ทางอุทยานจ้างเหมามาช่วยงาน ยังใส่เสื้อของนายบุญชูเข้าไปช่วยติดตามรักษาอาการช้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้โกรธแค้นช้างป่าที่ทำร้าย นายบุญชู จนเสียชีวิต เพราะถือเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องดูแลสัตว์ป่าภายในอุทยาน” นายพิชัย กล่าว.
พิสิษฐ์ รื่นเกษม /ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร 099 3396 4 4 4 รายงาน