ข้าราชการไทยตรวจสอบบริการประชาชน

ขอนแก่น – อำเภอกระนวน พร้อม ผู้นำชุมชน 9 ตำบล ปฏิบัติการ Re X-Ray คัดกรองผู้เสพยาเสพติด 57 คน เข้าศูนย์พักคอย มุ่งเป้าฟื้นฟูพัฒนาอาชีพ จนพร้อมกลับชุมชน

อำเภอกระนวน พร้อม ผู้นำชุมชน 9 ตำบล ปฏิบัติการ Re X-Ray คัดกรองผู้เสพยาเสพติด 57 คน เข้าศูนย์พักคอย มุ่งเป้าฟื้นฟูพัฒนาอาชีพ จนพร้อมกลับชุมชน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ภายใต้อำนวยการของนายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน นายภาวิช บุญภัทดอนซุยแป ปลัดอำเภออาวุโส นายพงษ์ศักดิ์ ทรัพย์ศิลาทอง สาธารณสุขอำเภอกระนวน มอบหมายให้ นายธวัชชัย ทวีผล ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกตำบล สมาชิก อส. ผรส. และ อสม. ปฏิบัติการดำเนินการ Re X-Ray ค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยยาเสพติดในชุมชนที่มีพฤติการณ์สุ่มเสี่ยง มีภาวะป่วยทางสุขภาพจิต ร่วมกับครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อนำผู้เสพยาเสพติด/ผู้ป่วย จำนวน 40 ราย และที่เข้ามาก่อนแล้ว 17 ราย รวม 57 รายเข้าสู่กระบวนการพักคอย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจ ที่ศูนย์พักคอย กองร้อย อส.อำเภอกระนวน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภายใต้การดำเนินการของนายอำเภอกระนวน ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกระนวน โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมสนับสนุนดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนขับเคลื่อนกิจกรรม โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick win) ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเป้า Re X-ray พื้นที่เป้าหมาย เพื่อกวาดล้างยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนมาตรการบำบัดรักษา โดยอำเภอกระนวนร่วมกับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนบริหารจัดการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มินิธัญญารักษ์ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในแต่ละรุ่น ประมาณ 50 คน และจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด Community Isolation : CI โดยใช้กองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช และ ผู้ผ่านการบำบัดรักษาจากมินิธัญญารักษ์ มาอยู่ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน เพื่อฟื้นฟู ฝึกอาชีพ และเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา จนกว่าจะพร้อมกลับสู่ชุมชน เพื่อคงสภาพของผู้ที่หายป่วยแล้วไว้ ไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน