ข่าวทั่วไป

ขอนแก่น – นายอำเภอกระนวน จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสร้างเมรุและพัฒนาวัดของผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าบำบัดรักษาในมินิธัญญารักษ์ อำเภอกระนวน 53 ราย และ สร้างกำลังใจให้ผู้พักฟื้นฟูสภาพทางสังคม ศูนย์พักคอยยาเสพติด กองร้อย อส.อ.กระนวน 57 ราย พร้อมเตรียมต่อยอดจัดพื้นที่บำบัดรักษาผู้ป่วยหญิงยาเสพติด

นายอำเภอกระนวน จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสร้างเมรุและพัฒนาวัดของผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าบำบัดรักษาในมินิธัญญารักษ์ อำเภอกระนวน 53 ราย และ สร้างกำลังใจให้ผู้พักฟื้นฟูสภาพทางสังคม ศูนย์พักคอยยาเสพติด กองร้อย อส.อ.กระนวน 57 ราย พร้อมเตรียมต่อยอดจัดพื้นที่บำบัดรักษาผู้ป่วยหญิงยาเสพติด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ฝึกอาชีพโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตำบลหัวนาคำ อำเภอกระนวน นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน พร้อมด้วย ว่าที่ร.อ.ภูมิวัฒน์ เหล่าบัวดี เจ้าหน้าที่ปกครอง นายเรืองศักดิ์ ต้นกันยา ผอ.รพ.สต.ห้วยยาง และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. สมาชิก อส. ได้ตรวจเยี่ยม ติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มินิธัญญารักษ์ อำเภอกระนวน จำนวน 53 คน พร้อมจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปรับปรุงพื้นที่วัด สร้างเมรุ ฯ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ณ ศูนย์พักคอยยาเสพติด บริเวณที่ว่าการอำเภอกระนวน นายอำเภอกระนวน พร้อมด้วย นายภาวิช บุญภัทดอนซุยแป ปลัดอำเภออาวุโส นายธวัชชัย ทวีผล ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ร่วมพบปะประจำวันและดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่มีภาวะด้านสุขภาพจิต 57 ราย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับสู่ชุมชน ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว และชุมชนได้อย่างปกติ

อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและแก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick win) ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเป้า Re X-ray พื้นที่เป้าหมาย เพื่อกวาดล้างยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนมาตรการบำบัดรักษา โดยอำเภอกระนวนร่วมกับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนบริหารจัดการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มินิธัญญารักษ์ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในแต่ละรุ่น ประมาณ 50 คน และจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด Community Isolation : CI โดยใช้กองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช และ ผู้ผ่านการบำบัดรักษาจากมินิธัญญารักษ์ มาอยู่ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน เพื่อฟื้นฟู ฝึกอาชีพ และเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา จนกว่าจะพร้อมกลับสู่ชุมชน เพื่อคงสภาพของผู้ที่หายป่วยแล้วไว้ ไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการบำบัดรักษาผู้ป่วยหญิงยาเสพติด ซึ่งต้องแยกพื้นที่และรูปแบบการปฏิบัติโดยเฉพาะ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้เหมาะสมกับการดูแลรักษา