ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ถึงวันนี้เกือบ 20 ปีมาแล้วเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย
โดยการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในวันนั้น เริ่มต้นจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นพลเมืองที่รัฐแต่งตั้งให้ดูแลความปลอดภัยในท้องที่ ได้เเจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกผู้ก่อความไม่สงบข่มขู่เพื่อปล้นปืนลูกซอง 6 กระบอก ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างนั้น โดยมองว่า ชรบ. ทั้ง 6 อาจเป็นหนอนบ่อนไส้ และตั้งใจมอบปืนให้กลุ่มผู้ก่อการ จึงทำการจับกุมทั้งหมดมาสืบสวนต่อที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ
ซึ่งจากการชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว จากนั้นมีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมามุงดูนับพันคนจนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตหลายคน จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนแล้วขนย้ายจากสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่อยู่ไกลออกไป 150 กิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนส่ง 78 คน รวมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด 85 คน
หลังเหตุการณ์ผ่านไป ล่าสุดศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องจำเลย 7 คน เหตุจลาจลหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ก่อนคดีความหมดอายุวันที่ 25 ต.ค.2567 ที่จะถึงนี้ และศาล จ.นราธิวาส ได้รับฟ้องจำเลย 7 คน จากทั้งหมด 9 คน และศาลได้นัดสอบคำให้การในวันที่ 12 ก.ย.67 เวลา 09.00 น.นี้
นายหะยีดิ้ง มัยเซ็ง หรือ (แบดิง) อยู่บ้านเลขที่ 99 ม.9 บ้านบาเดาะมาตี ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบเล่าว่าตอนนั้นเป็นช่วงเดือนรอมฎอน (ถือศีลอด) แล้วมีคนบอกว่าให้ไปรับของหวานที่หน้า สภ.ตากใบ เลยชวนเพื่อนอีก 5 คนไปด้วยกัน พอไปถึงจึงได้ทราบข่าวว่าเค้ามีการประท้วงให้ปล่อย ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.
แบดิงเล่าเหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบและหน้าที่ว่าการ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส) ตอนนั้นราว 10 โมงกว่าที่หน้าสภ.ตากใบ ตอนนั้น ชรบ. หรือ “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” 6 คนของหมู่บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ถูกจับเพราะมีคนมาปล้นปืนจากเขา แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นพวกเดียวกัน เลยมีประชาชนนับพันคนรวมตัวกันประท้วงอยู่หน้าอำเภอ หน้าโรงพัก ในสนามเด็กเล่น ทั้งผู้ชาย เด็ก ผู้หญิง คนแก่
จากนั้นประมาณ 11 โมง เจ้าหน้าที่ปิดทาง เข้า ออกไม่ได้ จะกลับก็กลับไม่ได้แล้ว รถที่ขี่ไปก็จอดอยู่หน้า อำเภอทั้งสองด้าน เอาออกมาไม่ได้ ต้องกลับไปเอาวันหลัง เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด สังเกตเห็นจากกระสุนปืนที่ตกอยู่ริมแม่น้ำตากใบราวกับฝนที่ตกลงมา พร้อมทั้งยิงแก๊สน้ำตา โชคดีที่มีเสื้อกันฝนติดตัวเลยสามารถเอาไปบังได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยิงมาแนวราบ ใครนอนไม่โดน ถ้ายืน โดน ผมเห็นช่องว่างในสนามเด็กเล่น มีอิฐแดงก่อเป็น กระถางดอกไม้ จะวิ่งไปหาที่บังความปลอดภัย ผมวิ่งไป ตรงนั้น ตอนนั้นแหละผมโดนยิงจากด้านหลังกระสุนทะลุมาด้านหน้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลากผมไปที่หน้า สภ.ตากใบ แต่ตอนนั้นผมยังรู้สึกตัวอยู่ เจ้าหน้าที่ได้เอาด้ามปืนตีที่หัว มีแผลหัวแตกด้วย ส่วนคนที่ถูกจับเจ้าหน้าที่ได้ถอดเสื้อเอามือไคว้ข้างหลังแล้วเอามามัดเรียงกันแล้วขนขึ้นรถเอามาซ้อนกัน บางคันซ้อน 3 ชั้น บางคันซ้อน 5 ชั้น และบางคันซ้อน 7 ชั้นจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลากผมนำขึ้นรถตู้ไป หลังจากนั้นผมก็หมดสติ รู้สึกตัวตอนมืดแล้ว ที่โรงพยาบาลปัตตานีหมอบอกให้ยกมือถอดเสื้อยืดสีแดงเลือด โชกท่วมตัว
นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนถึงวันนี้ ถ้ามีการพูดถึงเหตุการณ์ที่ตากใบผมรู้สึกสะเทือนใจทันที ซึ่งตอนนั้นลูกยังเรียนหนังสืออยู่ 4 คน ซึ่งลูกคนสุดท้องตอนนั้นอายุแค่ 2 ขวบ แบดิงก็ทำงานไม่ได้ เมื่อก่อนนั้นแบดิงเป็นช่างทำบ้าน รับเหมาก่อสร้างไปทำงานที่มาเลเซีย ตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรต้องให้แฟนทำงานคนเดียว
ซึ่งหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบก็ไม่ได้ไปทำงานก่อสร้างอีก เพราะร่างกายไม่สามารถทำงานหนักได้แล้ว จึงมาทำนาอยู่บ้าน กรีดยางของตัวเอง เก็บขี้ยางขาย หลังจากนั้นได้มีการเยียวยาในจำนวนเงิน 500,000 บาท แบดิงเล่าว่าถ้าแลกจากการถูกยิงแล้วได้ 500,000 บาท ยังไงก็ไม่คุ้ม แล้วถ้าเสียชีวิตได้ 7,000,000 บาท ยังไงก็ไม่คุ้ม แต่เขาให้ก็รับ หลังจากนั้นแบดิงจึงตัดสินใจฟ้อง เพราะอยากให้คดีนี้จบเร็วๆ อยากให้เอาคนผิดมาลงโทษ คนทำผิดก็ต้องรับผิด เหมือนกับแบดิงเจ็บตัวก็ต้องรับว่าเจ็บ อยากให้คนผิดได้รับโทษเพื่อให้ลูกหลานอยู่อย่างสบายใจต่อไป
นางสีตีรอกายะห์ สาและ (กะยะห์) อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12/1 ม.1 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ตากใบ เล่าว่ากะยะห์เป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์และสามีเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ตอนนั้นกะยะห์อายุประมาณ 30 กว่า ตอนนั้นสามีอายุ 40 กว่า ซึ่งหลังจากที่สามีเสียชีวิตแล้ว ตอนนั้นกะยะห์อยู่บ้านเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว สามีเป็นเสาหลักของครอบครัวทำงานนอกบ้าน ทำนา รับจ้างสร้างบ้าน เลื่อยไม้ มาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหลังจากที่สามีเสียชีวิตแล้ว กะยะห์เองต้องออกไปทำงานนอกบ้านหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งตอนนั้นลูกสองคนกำลังเรียนอยู่ ตอนนั้นลูกคนโตติดทหารเกณฑ์ ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่าลำบากมาก ซึ่งตอนที่เกิดเหตุวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังจากนั้น 3 วันได้ติดตามข่าวคราวไปรับศพที่ค่ายอิงคยุทธกับชาวบ้าน เพื่อนำศพมาทำพิธีทางศาสนา ซึ่งตอนนั้นรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเพราะไม่เคยทำงานสามีทำงานคนเดียว จากนั้นก็เอาของในบ้านไปขายหมดเพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว ทุกวันทุกคืนต้องอยู่กับน้ำตา ไม่รู้จะทำอย่างไรไม่เคยลืมเหตุการณ์ในวันนั้นเลย ทำใจไม่ได้เลยที่ต้องสูญเสียสามีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จนถึงทุกวันนี้ไม่เคลลืมเหตุการณ์ในวันนั้นเลยถ้าไม่ตายก็ไม่มีทางลืมเหตุการณ์ในวันนั้น แล้วตอนนี้ก็ยิ่งลำบากอีก เพราะลูกคนโตป่วยติดเตียง ถึงแม้วันนั้นจะได้เงินมาก็ไม่ลืม ถึงแม้ว่าเงินจะหนักเท่ากับตัวของสามีก็รับไม่ได้ ถึงวันนี้กะยะห์ขอดูหน้าคนที่ทำผิด และอยากให้เค้ารับผิดชอบ เพราะจริงๆแล้วชาวบ้านไม่รู้อะไร กะยะห์ขอความยุติธรรมเท่านั้นเอง
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส