อำเภอศรีราชา สรุปผลการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับอำเภอ ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.67) ประสบผลน่าพอใจ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกว่า 400 คดียึดทรัพย์ผู้ค้ารายใหญ่กว่า 30 ล้านบาท
นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอศรีราชา เผยถึงผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับอำเภอ หรือ ศป.ปส.อ. ตามนโยบายป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน ( 1มิ.ย.-31ส.ค.2567) ซึ่ง จ.ชลบุรี เป็น 1 ใน 25 จังหวัดเป้าหมายที่สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง และอำเภอศรีราชา ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติดจากการมีสถานบริการ โรงงานและสถานศึกษาจำนวนมาก ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
หลังได้มีการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกันจนทำให้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อ.ศรีราชา มีสถิติการจับกุมผู้ค้า ผู้ครอบครอง และผู้เสพยาบ้า ยาไอซ์ และเคตามีน จากการดำเนินงานของ 4 สภ. ได้รวมกว่า 400 คดีโดยมีคดีสำคัญที่ สภ.บ่อวิน ซึ่งร่วมกับ ปปส.ภาค 2 และฝ่ายปกครอง จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ยึดของกลางยาบ้ากว่า 4 แสนเม็ดและยึดทรัพย์กว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งยังนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาจนสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้
“ โครงสร้างของ ศป.ปส.อ.ศรีราชา ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 โรงพักคือ สภ.ศรีราชา ,แหลมฉบัง,หนองขาม และ สภ.บ่อวิน ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานใน 3 เดือน ( มิ.ย.-ส.ค.2567) ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้มิติการปราบปราม จนสามารถจับกุมผู้ค้ารายย่อย และใช้กฎหมายการเงินยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการค้าได้หลายคดี”
ส่วนในแง่ของการป้องกันที่มีหลายมิติทั้งการสร้างหมู่บ้าน และชุมชนให้มีความเข้มแข็งผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ,โครงการทูบี นัมเบอร์วัน , โครงการสุ่มตรวจปัสสาวะในสถานศึกษา ,โครงการโรงงานสีขาว, โรงเรียนสีขาว ฯลฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข้ง รวมทั้งชุมชนล้อมรักของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นายอำเภอศรีราชา ยังบอกอีกว่าในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 โรงพักนอกเหนือจากการปราบปรามแล้วยังมีโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนที่จะครอบคลุมใน 3 มิติทั้งการนำผู้เสพเข้าร่วมโครงการสังคมบำบัดเพื่อฝึกอาชีพ ,สันทนาการ และการติดตามตรวจสอบประวัติในทุกสัปดาห์
โดยการบำบัดฟื้นฟูจะให้ความสำคัญใน 2 ส่วนคือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ที่เป็นทั้งจิตเวชปกติ และจิตเวชอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติด ซึ่งในส่วนหลังจากการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า อ.ศรีราชา มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จำนวน 85 ราย และเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดงจำนวน 27 ราย ที่ได้ส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลเจ้าพระยา เป็นที่เรียบร้อย
โดยแนวทางการดำเนินงานหลังการนำผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองจะร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านในทุกวันพุธ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชจะต้องได้รับการดูแลและติดตามผลว่ามีการรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดหรือไม่
“ เนื่องจากบางรายเมื่อได้รับการบำบัดแล้วก็กลับไปเสพอีก เจ้าหน้าที่จึงต้องปรับสูตรยาให้ใหม่ ส่วนบางรายฟื้นฟูจนหายแล้วก็กลับไปเสพจนเกิดอาการดื้อยา ซึ่งในเรื่องนี้ครอบครัวต้องให้ความสำคัญในการช่วยกันดู เพราะหากเกิดอาการคลุ้มคลั่งครอบครัวก็ไม่เอา ชาวบ้านก็ไม่เอาและต้องส่งไปอยู่ในสถานที่รักษาต่างๆ ซึ่งก็ทำให้จำนวนผู้เข้ารักษาเพิ่มมากขึ้น วันนี้อำเภอศรีราชา มีแนวคิดจัดทำโครงการส่งผู้เสพที่มีอาการหนักไปรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา เป็นเวลา 3เดือนเพื่อให้ได้ฟื้นฟูร่างกายก่อนจะกลับมาบำบัดรักษาในพื้นที่”
รวมทั้งยังโครงการฟื้นสมรรถภาพทางสังคมให้กับผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาด้วยการจะร่วมมือกับสถานประกอบการรับผู้ที่ผ่านการบำบัดจนมั่นใจได้ว่าจะไม่กลับไปใช้ยาเสพติดอีกเข้าทำงาน เพื่อให้ได้มีโอกาสสร้างรายได้และความภูมิใจให้กับตนเอง ที่สำคัญยังเป็นการ สร้างที่ยืนให้กับผู้ที่เคยพลาดพลั้งไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ
ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี จ.ชลบุรี 090-9535645
พสิษฐ์ เขม้นเขตวิทย์ รายงาน ศูนย์รวมข่าวภาคตะวันออก 062-7584334