ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ศุลกากร บุกค้นโกดังพบของผิดกฎหมาย ไม่มี มอก. และ อย. นับล้านชิ้น มูลค่ากว่า 27.5 ล้านบาท

ศุลกากร บุกค้นโกดังพบของผิดกฎหมาย ไม่มี มอก. และ อย. นับล้านชิ้น
มูลค่ากว่า 27.5 ล้านบาท

วันนี้ (24 กันยายน 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับ
ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขัน ในการป้องกันและปราบปรามการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)และไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งที่ผ่านมากรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม อีกด้วย

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ดำเนินการตรวจยึดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยขอหมายค้นเพื่อเข้าตรวจสอบโกดังเก็บสินค้า 3 แห่ง ในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการเก็บสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม
ไว้เป็นจำนวนมาก ผลการตรวจค้น พบสินค้าที่ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เช่น ปลั๊กไฟ หูฟัง จำนวน 150,000 ชิ้น มูลค่า 2.5 ล้านบาท และสินค้าไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช่น คอนแทคเลนส์ จำนวน 850,000 ชิ้น มูลค่า 25 ล้านบาท รวมจำนวน 1 ล้านชิ้น รวมมูลค่า 27.5 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าทั้งหมดมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และเบื้องต้นไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ มาตรา 167
แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรยังคงเข้มงวดและเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่มี มอก. ไม่มี อย. และมีราคาต่ำเข้ามาจำหน่ายในประเทศต่อไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจและผู้ประกอบการสุจริตที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้น ยังเป็นการสกัดกั้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพที่เป็นอันตรายต่อประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบก่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น สำหรับกรมศุลกากร นอกจากการลงพื้นที่ตรวจค้นตามโกดังหรือที่พักสินค้าที่สงสัยว่ามีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้แล้วยังได้ทำการอายัดสินค้า ณ ท่า/ที่ที่นำเข้าเพื่อรอผลการพิจารณาอนุญาตจาก สมอ. เป็นจำนวนมากอีกด้วย หากสินค้าที่อายัดไว้นั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ สมอ. กำหนด ทาง สมอ.จะมีหนังสือให้ดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางต่อไป

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 23 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรกว่า 1,400,000 ชิ้น ไม่รวมสินค้าห้ามนำเข้าอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการจับกุมเป็นจำนวนมากเช่นกัน