ข่าวทั่วไป

วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ รำลึก 248 ปี ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ รำลึก 248 ปี ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

เช้าวันที่ 7 ม.ค. 64 เวลา 10.29 น. บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมผู้ศรัทธา จัดพิธีสักการะถวายพวงมาลัยดอกไม้สด สดุดีเกียรติคุณพระยาพิชัยดาบหัก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณและวีรกรรมที่กล้าหาญของพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกคู่กายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรบุรุษผู้กล้าที่ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และคนไทยให้ความเคารพนับถือ ณ. อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี วัดคุ้งตะเภา จ.อุตรดิตถ์ ทั้งนี้ พิธีทั้งหมดจัดเป็นการภายใน เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019

เนื่องด้วยเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316 หรือ 248 ปีที่ผ่านมา เป็นวันที่ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหักสร้างประวัติศาสตร์ปกป้องกอบกู้เอกราชชาติไทย ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว นำทัพทหารต่อสู้กับกองทัพโปสุพลาข้าศึกจนดาบหักคามือ จนได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงเหตุการณ์สิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในการรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จ หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้เป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2313 ตั้งอยู่ที่หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ใน พ.ศ. 2559 และประดิษฐานองค์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563

อนุสาวรีย์คู่บารมี ตั้งอยู่ใจกลางตำบลคุ้งตะเภา หรือชื่อเดิมเมืองฝางสวางคบุรี บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภา อดีตวัดที่สถิตย์ของเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง (ตำแหน่งสังฆราชาเมืองฝางในสมัยอยุธยา) ด้านหน้าติดกับถนนพิษณุโลก-เด่นชัย บริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง หน้าอนุสาวรีย์มีลานกว้างขนาดใหญ่ ด้านตรงข้ามของอนุสาวรีย์เป็นทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี หัวไผ่หลวง-บ่อพระ-ฝาง สถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระทำศึกรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จตามพระราชพงศาวดาร

 

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรูปเหมือนพระยาพิชัยดาบหัก ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ และแท่นอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.09 น. (ราชาฤกษ์วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อนุสาวรีย์ประกอบด้วย พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับด้านซ้ายเป็นประธาน พระหัตถ์ทรงกุมเตรียมเก็บพระแสงดาบ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการสิ้นสุดศึกรวมแผ่นดินไทย พระยาพิชัยดาบหักอยู่เบื้องขวา ยืนคู่พระบารมีในฐานะขุนศึกคู่พระทัย เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้คืนอิสรภาพและความเป็นปึกแผ่นของไทยจนสำเร็จสมบูรณ์ได้ในปี พ.ศ. 2313 ณ เมืองสวางคบุรี และเหตุการณ์สืบเนื่องที่ท่านได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองพิชัยบ้านเกิด และวีรกรรมการปกป้องขับไล่พม่าจนดาบหักคามือในปี พ.ศ. 2316

ทั้งนี้ตัวฐานอนุสาวรีย์มีความสูงกว่า 8 เมตร เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สูงที่สุดในภาคเหนือ และเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักที่สูงที่สุดในประเทศไทย

ปวินท์ อินกล่ำ รายงาย