ข่าวประชาสัมพันธ์

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครบรอบ 18 ปี พร้อมทะยานสู่ปีที่ 19 เพิ่มศักยภาพขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางการบินโลก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครบรอบ 18 ปี ให้บริการมาแล้วกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน ต้อนรับผู้โดยสารจากทั่วโลกมากกว่า 815 ล้านคน

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครบรอบ 18 ปี พร้อมทะยานสู่ปีที่ 19 เพิ่มศักยภาพขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางการบินโลก
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครบรอบ 18 ปี ให้บริการมาแล้วกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน ต้อนรับผู้โดยสารจากทั่วโลกมากกว่า 815 ล้านคน พร้อมทะยานสู่ปีที่ 19 เพิ่มศักยภาพขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางการบินโลก
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีกำหนดครบรอบการดำเนินงาน 18 ปี ในวันที่ 28 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งนับแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ทสภ. ถือเป็นอีกหนึ่งท่าอากาศยานแห่งความภูมิใจของคนไทยทำหน้าที่ให้การต้อนรับและให้บริการผู้โดยสารจากทั่วโลกแล้วทั้งสิ้นกว่า 815 ล้านคน รองรับเที่ยวบินรวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 22 ล้านตัน เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ในช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทสภ. ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับท่าอากาศยาน และอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แต่มาตรการจากรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทันทีและต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดใหญ่สิ้นสุดลง ได้ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของ ทสภ. เช่นกัน โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567 (รวม 11 เดือน) ทสภ. มีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 128 สายการบิน มีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น – ลงรวมทั้งสิ้น 318,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.37 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 44.73 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.66 และมีปริมาณการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 1.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทสภ. ได้เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) มีผู้โดยสารใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 1.06 ล้านคน มีเที่ยวบินให้บริการจำนวน 31,400 เที่ยวบิน ปัจจุบันมีสายการบินไปใช้บริการ ที่อาคาร SAT-1 แล้วจำนวน 28 สายการบิน อาทิ สายการบินไทย สายการบินแอร์แคนาดา สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ส สายการบินเวียตเจ็ทแอร์ ฯลฯ


นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ทสภ. ยังคงให้ความสำคัญกับการเติมเต็มศักยภาพอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะประกอบด้วยโครงการลงทุนด้านโครงสร้างขนาดใหญ่ตามแผนแม่บทการพัฒนา ท่าอากาศยาน หรือ Master Plan ตลอดจนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน สำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทสภ. กำหนดเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. จากปัจจุบัน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ให้เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ที่ผ่านมา ทสภ. ได้ดำเนินการทดลองปฏิบัติการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในภาพรวมประสบความสำเร็จและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ ทสภ. อยู่ระหว่างการเตรียมโครงการ เพื่อขยายศักยภาพของอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ได้แก่ การก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยาย ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี ด้วยการเพิ่มพื้นที่ประมาณ 80,000 ตารางเมตร โดยความคืบหน้าล่าสุด ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ ทอท. และจะนำเรียนคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป


นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ได้นำเทคโนโลยี ช่วยลดระยะเวลาในด้านการบริการเพื่อแก้ปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร อาทิ ระบบ Automated Border Control (เครื่อง ABC) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ สามารถอ่าน E-Passport ได้มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ระบบ Biometric โดย ทสภ. อยู่ระหว่างการทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยี Face Recognition เพื่อระบุตัวตนผู้โดยสาร คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในส่วนของระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ปัจจุบันสายการบินและผู้โดยสาร เริ่มมีความคุ้นเคยและใช้บริการระบบด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดเวลา ไม่ต้องรอ ต่อคิวเช็กอินบัตรโดยสารและโหลดกระเป๋าสัมภาระเหมือนที่ผ่านมา
ทางด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ทสภ. ได้มีการนำระบบ A-CDM (Airport Collaborative Decision Making) มาใช้เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการการจราจรทางอากาศ สายการบิน และผู้ประกอบการภาคพื้น ให้สามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการ สถานะ และเวลาในแต่ละเที่ยวบินให้เป็นไป อย่างแม่นยำ ตรงเวลา เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ Real time ลดความล่าช้าของเที่ยวบิน ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทสภ. ได้ร่วมกับ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด และกรมศุลกากร เปิดตัว ‘ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า’ หรือ ‘Multimodal Transportation Center’ เพื่อเป็นศูนย์บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนครบวงจรรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้ง ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมดำเนินพิธีการศุลกากรได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว สามารถรองรับปริมาณการขนส่ง ได้กว่า 50,000 ตันต่อปี
นายกิตติพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปี ของการดำเนินงาน ทสภ. ไม่เคยหยุดการพัฒนา มุ่งสู่การเป็นหนึ่งใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอยู่เคียงข้างสังคมไทย ก้าวสู่ปีที่ 19 ด้วยความมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพ ผลักดันอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของประเทศ ให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสากล เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในการต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
************************************
สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ