ข่าวพาดหัว

รับร่าง 4 แรงงานไทยในอิสราเอล กลับสู่มาตุภูมิแล้ว “พิพัฒน์ – บุญสงค์” ส่งผู้แทนวางหรีดแสดงความอาลัย

รับร่าง 4 แรงงานไทยในอิสราเอล กลับสู่มาตุภูมิแล้ว “พิพัฒน์ – บุญสงค์” ส่งผู้แทนวางหรีดแสดงความอาลัย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ร่างของแรงงานไทยทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย นายอรรคพล วรรณไสย นายประหยัด พิลาศรัมย์ นายธนา ติจันทึก และนายกวีศักดิ์ ปาปะนัง ที่เสียชีวิตจากเหตุจรวดโจมตีจากเลบานอนไปยังเมืองเมตูลาทางตอนเหนือของอิสราเอล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ส่งร่างแรงงานไทยมาเมื่อวานนี้ (7 พฤศจิกายน 2567) เวลา 21.55 น.ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 081 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันนี้ (8 พฤศจิกายน 2567) เวลา 14.05 น. ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานร่วมพิธีรับร่างแรงงานไทยกลับจากรัฐอิสราเอล โดยวางพวงหรีดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความอาลัย จากนั้น นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมวางพวงหรีดตามลำดับ โดยร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 4 รายจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังภูมิลำเนาในจังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี และบุรีรัมย์ เพื่อให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาตามขั้นตอนต่อไป


ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยานั้น จากการตรวจสอบของสำนักงานประกันสังคม พบว่า นายกวีศักดิ์ ปาปะนัง ชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้รับสิทธิประโยชน์บำเหน็จชราภาพ เป็นเงิน 35,730.18 บาท นายธนา ติจันทึก ชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้รับสิทธิประโยชน์บำเหน็จชราภาพ เป็นเงิน 41,480.87 บาท ส่วนอีก 2 รายจากการตรวจสอบพบว่าไม่เป็นผู้ประกันตน ส่วนเงินสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศนั้น แรงงานทั้ง 4 รายได้ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์กรณีเดินทางกลับประเทศจากภัยสงครามไปแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว รวมทั้งโครงการเยียวยาจากรัฐบาล ทางด้านเงินชดเชยจากสถาบันประกันภัยอิสราเอล กรณีเสียชีวิต ได้แก่ ค่าทำศพ 79,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการทำศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 47,000 บาท และเงินช่วยเหลือการเป็นหม้าย กรณีมีภรรยา ประมาณ 57,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเงินชดเชยรายดือนและรายปีและอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับฝ่ายอิสราเอลเรื่องการชดเชยเยียวยาเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวของแรงงานไทยทุกราย โดยกระทรวงแรงงาน ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานที่เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์พึงได้ตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด


ขณะที่ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในอิสราเอล ขอให้ร่วมมือกับทางการอิสราเอลอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อมีประกาศแจ้งเตือนและอพยพให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เข้าในพื้นที่ปลอดภัย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานในพื้นที่สีเขียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอให้แรงงานไทยติดตามข่าวจากสถานทูตและสำนักงานแรงงานไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงแรงงานจะดูแลพี่น้องแรงงานไทยอย่างดีที่สุด สำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้แจ้งข้อมูลที่ด่านตรวจคนหางานก่อนเดินทางออกนอกประเทศทุกครั้ง เพื่อกระทรวงแรงงานจะได้ทราบข้อมูล ติดตาม และดูแลสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ทั้งยังเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เช่นนี้อีก


นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า สถานการณ์ความปลอดภัยของแรงงานไทยในขณะนี้ ก็เป็นที่น่าเสียใจที่ในที่สุดแล้วเราก็มีแรงงานเสียชีวิตวันนี้มารับ 4 ศพ ก่อนหน้านี้ก็มีเสียชีวิตไป 1 ศพ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เราก็พยายามสื่อสารกับแรงงานว่า ในช่วงที่เดินทางได้อยู่ เราก็อยากให้พิจารณาเดินทางกลับ เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้ เราไม่รู้ว่ามันจะพัฒนาไปทางไหน ถ้าสมมุติว่ามันเลวร้ายลง ต่อไปน่านฟ้าปิดหรือว่ามีเหตุการณ์การสู้รบมันจะทำให้การเดินทางกลับยาก แม้ว่าจะมีเครื่องบินจากประเทศไทยไปรับก็ยังยาก เพราะว่าน่านฟ้าปิดสนามบินปิด โอกาสที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือยาก ก็อยากให้พิจารณาเดินทางกลับประเทศไทยช่วงที่มันยังเดินทางได้อยู่ ส่วนตอนนี้ประชาชนแรงงานไทยในอิสราเอลก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้บอกว่าสะดวกสบาย เพราะว่ามันจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มันมีการสู้รบอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา เวลามีเสียงระเบิดมาก็จะต้องหลบเข้าที่หลบภัย แต่ก็มีอยู่สามหมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็ยังปลอดภัยดีอยู่ เชื่อว่ามีการสื่อสารมีการติดต่อกับทางสถานทูตอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแรงงานไทยก็ค่อนข้างที่จะมีความพร้อมรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวยังไงในช่วงที่มันมีเหตุการณ์ ตอนนี้คือมันมีเหตุการณ์สู้รบกันอยู่เป็นประจำทุกวัน ถ้าเกิดสมมุติว่า อย่างเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้ง เป็นประเทศที่สงบ ไม่มีเหตุการณ์การสู้รบ เวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาก็จะเป็นเหมือนกับว่าเป็นความรุนแรง แล้วก็ไม่ปลอดภัย แต่ก็เทียบกับอิสราเอลซึ่งมันมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องปีกว่าแล้ว มันก็อาจจะทำให้คนในอิสราเอลมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรง ไม่ใช่เหตุการณ์ที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจจะมีความเคยชินเกิดขึ้น แต่ทีนี้จากความรู้สึกของเราที่เราอยู่ประเทศไทย เราก็คิดว่ามันมีสภาวะความเสี่ยงสูง มีความรุนแรงสูง และมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นค่อนข้างสูง สำหรับตัวประกันก่อนหน้านี้ ตอนนี้มีติดอยู่ 6 คน ที่ยังช่วยเหลือไม่ได้ เราช่วยเหลือมาได้ 23 คน ความพยายามเราก็ไม่ได้ยุติลง เราก็พยายามเจรจากับประเทศต่าง ๆ ที่เราคิดว่าพอจะมีอิทธิพลในการที่จะโน้มน้าวกลุ่มฮามาส ทีนี้ประเด็นความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับประเด็นเดียว ก็คือ ความสำเร็จในเรื่องการเจรจาหยุดยิง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่ามันจะมีการหยุดยิงเกิดขึ้น ทีนี้ 23 คนแรกที่เราได้มามันเกิดจากการหยุดยิง ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการหยุดยิงหนึ่งครั้ง ครั้งเดียว ครั้งนั้นเราก็ได้ 23 ตัวประกันกลับมา เราก็หวังว่าการหยุดยิงมันจะเกิดขึ้นในอนาคตอั้นใกล้ และเราเชื่อว่าถ้าเกิดมีการหยุดยิงเมื่อไหร่ ตัวประกันที่เหลือ 6 คน ก็จะได้รับการปล่อยตัว คือไม่ว่าจะเป็นตัวประกันต่างชาติ หรือตัวประกันชาวอิสราเอล ไม่มีใครทราบชะตากรรม ว่า ทุกข์ สุข ยังไง ไม่มีใครทราบ เราก็ได้แต่หวังว่า 6 คนของเราจะไม่ได้รับผลกระทบหรือว่ามีความปลอดภัยอยู่


*********************
สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ