คาบาเร่ต์ดังพัทยา ไม่ทิ้งลูกน้อง แม้โดนพิษ โควิด หนัก
30 ปี เพิ่งเคยเจอ! โควิดกระทบทุกหย่อมหญ้า คาบาเร่ต์ดังพัทยาไม่ทิ้งลูกน้อง กอดคอฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
จากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดที่กลับมาแพร่ระบาดระลอกที่สอง ซึ่งเหมือนเป็นการตอกย้ำซ้ำแผลเก่าในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในรอบแรก เนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันโรคทำให้มีการงดและชะลอการเดินทาง ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ธุรกิจเมืองท่องเที่ยวจึงไม่สามารถดำเนินการไปต่อได้ สร้างปัญหาในสังคมตามมาในเรื่องของการปลดพนักงานออก ทำให้เกิดคนตกงานและว่างงานอย่างกระทันหันเป็นจำนวนมาก เมืองพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศก็หลีกหนีวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้จนธุรกิจต่าง ๆ ได้ปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมากแล้วนั้น
มีรายงานว่า อีกหนึ่งธุรกิจท่ีเป็นเสมือนธุรกิจเริ่มต้นแห่งการสร้างเมืองพัทยาจนเป็นที่รู้จักกันมาถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ธุรกิจคาบาเร่ต์โชว์ ซึ่งเมืองพัทยามีผู้ประกอบการธุรกิจคาบาเร่ต์โชว์รายใหญ่ 2 แห่ง อันได้แก่ อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์โชว์ พัทยา และทิฟฟานี่โชว์ พัทยา ซึ่งจากผลพวงของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ต้องปิดตัวเองไป หลังจากพยายามฟันฝ่าวิกฤตในรอบแรกจนถึงประมาณสิ้นปี 2563 แม้ว่าผู้ประกอบการจะพยายามปรับเปลี่ยนรอบการการแสดงเพื่อความเหมาะสม ปรากฏว่าปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหายไปทั้งหมด ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศด้วยความสะดวกได้ ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเหลือน้อย จนเปิดต่อไม่ไหว และประกาศปิดตัวลงไปเป็นการชั่วคราวเพื่อรอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะคลี่คลาย
โดย นายกิติวงศ์ ชัยศุภกิจ ผู้จัดการทั่วไป อัลคาซ่าร์โชว์ พัทยา ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิดในครั้งนี้ถือเป็นผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่เคยเห็นมากกว่า 30 ปี ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะเมืองพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์การขับเคลื่อนเมืองพัทยาก็เกิดผลกระทบตามมาอย่างที่เห็น รวมทั้งธุรกิจคาบาเร่ต์โชว์ด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือชาวต่างชาติ หลังจากปิดประเทศงดการเดินทาง อัลคาซ่าร์เองก็ได้รับผลกระทบเรื่อยมา แม้ว่าจะปฏิบัติตามาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้งการเน้นตลาดกลุ่มคนไทย การปรับจำนวนรอบการแสดง แต่ความหวาดวิตกของโรคระบาดส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่อยากเดินทาง
ทั้งนี้ ช่วงเดือนธันวาคม 2563 อัลคาซ่าได้ปรับเหลือเพียง 2 รอบ ใน 2 วันต่อสัปดาห์ คือวันศุกร์และวันเสาร์ แต่ผู้มาใช้บริการเหลือไม่กี่คน จึงตัดสินใจปิดตัวลงไปเป็นการชั่วคราวก่อน หลังจากไปต่อไม่ไหวและขอปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว ก็เข้าข่ายระบบการดูแลของประกันสังคม ซึ่งช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานกว่า 300 ชีวิต โดยสนับสนุนเงินเยียวยา 70% ของเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท ในระยะเวลา 200 วัน หรือประมาณ 6 เดือนจากนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ขณะนี้ได้ช่วยเหลือพนักงานด้วยการเสริมสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบ และจะสร้างความเข้าใจกับพนักงานและลูกจ้างที่ขณะนี้ให้หยุดงานในส่วนของการแสดงทั้งหมด เหลือเพียงงานสำนักงานที่ทำงานด้านเอกสารที่ยังคงค้างอยู่เท่านั้น หากวิกฤตโควิดไม่จบสิ้นก็ต้องขอให้พนักงานหยุดก่อนที่จะมาทำงานกันใหม่ตอนสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งขอยืนยันว่าเราจะไม่ทอดทิ้งพนักงานอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อรายงานบรรยากาศของโรงละครทิฟฟานี่โชว์ พัทยา ด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่าได้ปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวไปแล้ว ทำให้บรรยากาศโดยทั่วไปของสถานที่ค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยประจำการบริเวณทางเข้าอาคารหน้าจุดขายตั๋วเพียงคนเดียว พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ได้ปิดบริการไปแบบไม่มีกำหนด ในส่วนของนักแสดงก็ทยอยหยุดงานไปตั้งโควิดในรอบแรก ปัจจุบันจะมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานภายในสำนักงานมาทำงานเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์การพร่ระบาดดีขึ้นกว่านี้ ก่อนมีคำสั่งจากภาครัฐว่าจะให้สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบไหน หรืออย่างไร ตามขั้นตอนต่อไป
ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี ผู้สื่อข่าว จ.ชลบุรี
นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก