เปิดใจ “ทนุเกียรติ จันทร์ชุม” หัวเรือใหม่ กองทุนกีฬาฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนวงการกีฬาไทยไปสู่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนวงการกีฬาไทย สำหรับ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติคนใหม่ พร้อมกับประสบการณ์มากมาย และวิสัยทัศน์ที่จะพร้อมนำพาองค์กรเพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ทั้งวงการกีฬาก้าวไปสู่ความสำเร็จ
จากการเฟ้นหาผู้จัดการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติคนใหม่ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา จนกระทั่งในที่สุดหลังผ่านกระบวนการสรรหาตามขั้นตอน นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผ่านการคัดเลือกได้เป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ซึ่ง “ผู้จัดการน้อย” ได้ถือฤกษ์งามยามดี เวลา 09.00 น. ของวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 เข้าห้องทำงานที่สำนักงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย
ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมากว่าครึ่งชีวิตต้องบอกว่า นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม คลุกคลีอยู่ในวงการกีฬามาแล้วมากถึง 28 ปี จนปัจจุบันอายุ 60 ปี ก็ยังโลดแล่นขึ้นสู่การเป็นผู้นำขององค์กรสำคัญในวงการกีฬาไทยกับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนพัฒนากีฬากีฬาแห่งชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยประสบการณ์ในวงการกีฬามาอย่างโชกโชน และผ่านงานมาแล้วหลากหลายหน้าที่ ทำให้เข้าใจทุกรายละเอียดของทุกมิติกีฬาไทยเป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม เป็นครูที่โรงเรียนบ้านเกี๋ยง จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2532 ก่อนเข้าสู่วงการกีฬาเมื่อปี 2538 ด้วยการเป็นนักวิชาการส่งเสริมด้านกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี 2544 ย้ายไปทำงานที่การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ ในตำแหน่งงานเดียวกัน จนกระทั่งปี 2547 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ สำนักงานการกีฬาภูมิภาค
จากการสั่งสมประสบการณ์ในภูมิภาค จนเข้าสู่ปี 2549 นายทนุเกียรติ เข้าสู่งานส่วนกลางกับการทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานสนับสนุนแข่งขันกีฬาอาชีพ ฝ่ายพัฒนากีฬาอาชีพ และปี 2552 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานแข่งขันกีฬาอาชีพและทะเบียนกีฬาอาชีพ ฝ่ายพัฒนากีฬาอาชีพ รวมทั้งในปีเดียวกันก็ได้เป็นผู้อำนวยการกองแข่งขันกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย ก่อนเข้าสู่ปี 2564 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย จนล่าสุดด้วยความสามารถ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ทำให้นายทนุเกียรติได้รับการทำหน้าที่สำคัญที่สุดในชีวิตกับตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
ภายใต้หัวเรือคนใหม่ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติอย่าง นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม เต็มไปด้วยแผนการทำงาน และนโยบายมากมายที่พร้อมเดินหน้าในการขับเคลื่อนวงการกีฬาไทยไปสู่ความสำเร็จ โดย นายทนุเกียรติ ได้ออกมาเปิดใจหลังได้รับตำแหน่งสำคัญในครั้งนี้ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกองทุนฯ และรองนายกรัฐมนตรี, นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงกรรมการทุกท่านที่ได้ไว้วางใจให้โอกาสตนเองเข้ามาทำงานในฐานะผู้จัดการกองทุนฯ ซึ่งตนเองมีหลายเรื่องที่คิดและอยากลงมือปฎิบัติ ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุไปตามเป้าหมาย
ในส่วนของแผนการทำงานนั้น นายทนุเกียรติ ระบุว่า เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งในสัญญาต้องให้ผู้จัดการกองทุนฯ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เห็นชอบก่อน จึงจะสามารถเดินหน้าทำได้ ซึ่งแผนการทำงานที่นำเสนอไปนั้น คณะกรรมการได้ให้การเห็นชอบไปแล้ว โดยหลักๆ ก็เป็นการนำเรียนเรื่องปัญหาต่างๆ ของกองทุนฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ ที่อาจต้องปรับแก้ไข เพราะดูไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กีฬาชาติ และเรื่องของความเป็นเอกภาพขององค์กร ซึ่งก็มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และหลากหลายเรื่องด้วยกัน
“ในแผนหลักๆ ของเราก็จะมีเรื่องของการปฏิรูปการทำงาน ก็คือเรื่องโครงสร้างของกองทุนฯ ให้สอดรับกับการส่งเสริมและสนับสนุนสมาคมและหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงการนำเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ พึงพอใจกับผู้ใช้บริการ ส่วนเรื่องรอยต่อของการทำงานกับผู้บริหารคนเก่า ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติของทุกๆ องค์กร ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และอาจมีผลกระทบบ้าง แต่สำหรับผมเชื่อว่า ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในกองทุนฯ จะสามารถนำองค์กรรับใช้วงการกีฬาให้ก้าวหน้าไปตามจุดมุ่งหมายอย่างที่หวัง” ผู้จัดการกองทุนฯ ป้ายแดงกล่าว
นายทนุเกียรติ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาคมกีฬาต่างๆ มาบ้างแล้ว เพื่อรับทราบถึงปัญหา และสิ่งที่ต้องการ ขณะที่เรื่องของงบประมาณปี พ.ศ.2568 เพิ่งได้รับความเห็นชอบ จากนั้นจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับสมาคมกีฬา ทั้งเรื่องงบประมาณ และจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และความสำเร็จในมหกรรมกีฬาต่างๆ ที่อยากเห็นความสำเร็จในกลุ่มกีฬาอาชีพ รวมถึงอยากเห็นความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งจะต้องมีการหารือและคุยกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด หรือองค์กรกีฬาที่มีกฎหมายเฉพาะ เช่น คณะกรรมการกีฬามวย บุคคลวงการมวย คณะกรรมการกีฬาอาชีพ ผู้แทนอาชีพ เพื่อเป็นเกาให้ถูกที่คันและเดินหน้าให้ตรงจุด
สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายที่ล่าช้าเป็นเงินค้างท่อในยุคสมัยที่ผ่านๆ มา นายทนุเกียรติ ระบุว่า เรื่องนี้ เป็นดำริของท่านประธานกองทุนฯ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งทุกท่านกำชับมาว่าต้องรีบเข้ามาดูเรื่องนี้เป็นลำดับแรก คือให้เร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งปัญหาเงินค้างท่อของบางสมาคมกีฬาที่ยังไม่ได้รับ หรือรับไม่หมด ก็จะดำเนินการให้ลุล่วงในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมนี้ ถ้าจัดการเรียบร้อยก็ต้องมาสรุปผล และไล่ดูต้นตอของปัญหาว่าล่าช้า เพราะอะไร ติดขัดอย่างไร หรือขัดแย้งกับกฎหมายและระเบียบข้อไหนบ้าง ซึ่งถ้าแย้งกันก็ต้องปรับ
“ปัญหาที่ผ่านมาหลักๆ จะเป็นเรื่องของเอกสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ถูกต้อง ซึ่งจุดนี้ก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหาติดขัดและล่าช้า เช่นเดียวกับเรื่องภาระหน้าที่ของกองทุนฯ ที่มีมากมายจนบุคลากรต้องรับภาระหน้าที่หนัก ก็มีส่วนเช่นกันทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการทำงาน เรื่องนี้ก็อาจแก้ด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากร หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากกว่าเดิม ส่วนเรื่องการของบประมาณที่สมาคมกีฬาต่างๆ ขอเข้ามาและอาจจะได้ไม่ครบตามที่ได้ทำแผนมา ต้องเรียนว่าในแต่ละปีที่เราได้งบประมาณในส่วนที่เป็นภาษีสรรพสามิต จากการจัดเก็บของรัฐบาลมาใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมกีฬา ซึ่งกองทุนฯ ได้ในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท แต่ก็แน่นอนว่าคำขอและผู้ขอที่ขอเข้ามานั้นมีมากเกินกว่าศักยภาพที่เราจะจัดสรรให้ได้แบบเต็มจำนวนที่ขอไว้”
นายทนุเกียรติ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนสำคัญหลังจากพิจารณาจัดสรร เราต้องชี้แจงให้แต่ละสมาคมกีฬาเข้าใจและรู้ถึงสาเหตุ ทั้งความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเงินเกิดขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์เรานี้เป็นสิ่งที่สำนักงบประมาณใช้กับหน่วยงานอื่นๆ อยู่แล้ว และกองทุนฯ ก็เตรียมนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งก็เชื่อว่าหากมีการชี้แจง พูดคุยตามหลักการและเหตุผล ผมก็เชื่อว่าผู้ขอน่าจะเข้าใจ
นอกจากนี้ นายทนุเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯในฐานะแหล่งเงินทุน ได้รับการเสนอแผนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยในการเตรียมการเรื่องซีเกมส์ในปี 2025 แล้ว ซึ่งในแผนแรกนั้น คณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นชอบค่าใช้จ่ายในการเตรียมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันแล้ว 400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของการกีฬาในการทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่จะตอบโจทย์การแข่งขันครั้งนี้ให้สมบูรณ์ เพื่อให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบในเรื่องรายละเอียดของโครงการ
ในส่วนของเรื่องมวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์ นั้น ผู้จัดการทนุเกียรติ ระบุว่า สำหรับมวยไทย ทางรัฐบาลได้ให้การจัดสรรงบประมาณประจำปีให้การกีฬาแห่งประเทศไทยแล้ว ในการขับเคลื่อนนโยบายมวยไทย ซอฟท์พาวเวอร์ ให้ไปสู่เป้าหมาย และเพิ่มมูลค่าให้กับกีฬามวยไทย สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องบุคลากรมวยไทย ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยก็พยายามจัดทำรายละเอียด ส่วนกองทุนฯก็จะดูมวยไทยในเรื่องสวัสดิการนักมวย คนในวงการมวย แต่เรื่องงบประมาณโดยส่วนมากในการส่งเสริมกีฬามวยจะอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย
“ผมตั้งใจที่อยากจะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และแสวงหาความร่วมมือกับทุกๆ ฝ่ายเพื่อให้วงการกีฬาของไทยเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
นี่เป็นคำกล่าวยืนยันทิ้งท้ายของ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติคนใหม่ ภายใต้การบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 36 ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วงการกีฬาไทยเดินหน้าไปทุกมิติ โดยมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
ดังนั้นตำแหน่งผู้จัดการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ จึงมีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนวงการกีฬาไทย ซึ่งการเข้ามาทำหน้าที่นี้ของ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่คร่ำวอดในวงการกีฬาไทยมาอย่างยาวนาน จะช่วยนำพาองค์กรไปสู่การยกระดับการพัฒนาวงการกีฬาไทยในทุกมิติให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน