เกษตรจังหวัดสิงห์บุรีจัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายสุเมธ ธีรนิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีเป้นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568
โดยมีนางอัศนีย์ญา บุษบาเเย้ม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสิงห์บุรี นายอำเภอเมืองสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ผู้เเทนหน่วยงาน เเละพี่น้องเกษตรกร เข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯ รวมจำนวนกว่า 200 คน ภายในงานฯ จัดให้มีการเปิดคลินิกให้บริการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคลินิกหลักประกอบด้วย คลินิกพืช คลินิกดิน คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบริหารศัตรูพืช คลินิกจักรกลเกษตร และคลินิกเสริม
จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ อาทิ คลินิกที่ดินปันสุขเพื่อสังคม ศูนย์ป่าไม้สิงห์บุรี บริษัท คูโบต้าสิงห์บุรี เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว เข้ามาร่วมให้บริการความรู้และแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกเเละลดภาระค่าใช้จ่ายเเละเวลาของเกษตรกรในการเดินทางไปติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเข้ามาติดต่อสอบถามข้อมูล เเนวทางเเก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เเละขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในคราวเดียว อีกทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรในพื้นที่ทั้งรายเดี่ยวเเละเเบบกลุ่ม เข้ามาจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรในงานฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเเละกลุ่มอาชีพมีรายได้ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนและธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพให้ประชาชน
ทั้งนี้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ อันเป็นโครงการฯ ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในพุทธศักราช 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต จัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ถวาย และขอรับพระมหากรุณาธิคุณให้โครงการฯ อยู่ในพระราชานุเคราะห์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านการเกษตร เเบบเชิงรุก เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละให้ความรู้ด้านการเกษตร ตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตในรูปเเบบเดิม มุ่งสู่การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยจากสารพิษ โดยการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีที่อันตราย เเละหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน