ศึกยัดห่วงเยาวชนนานาชาติ “ไอวายบีซี” วอนช่วยหาสนามแข่งด่วน
กลุ่มผู้ปกครองนักกีฬาบาสเกตบอลเยาวชนไทย เดินหน้าจัดศึกยัดห่วง เยาวชนนานาชาติ “ไอวายบีซี 2025” กลางปีหน้า ตอนนี้ กุมขมับพบปัญหาใหญ่ ยังไม่มีสนามแข่งขัน วอนผู้เกี่ยวข้องเดินหน้าช่วยเหลือด่วน เพื่อสานฝันหาเวทีให้เด็กเยาวชนไทยได้ประลองฝีมือ พัฒนาตัวเองต่อสู้กับคู่แข่งชั้นนำระดับนานาชาติ
ชูพิศ ชุติธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการแข่งขันบาสเกตบอลเยาวชนนานาชาติ 2568 เปิดเผยว่า สำหรับการแข่งขันบาสเกตบอลเยาวชนนานาชาติ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 3 (International Youth Basketball Championships 2025) หรือ “ไอวายบีซี 2025” ซึ่งจัดการแข่งขันโดย กลุ่มผู้ปกครองนักกีฬาบาสเกตบอลเยาวชนไทย จะมีขึ้นในปีหน้า
การแข่งขันรายการนี้ เป็นรายการสำคัญ ซึ่งเป็นรายการระดับเยาวชนนานาชาติ ที่ได้รับการรับรองจาก ฟีบ้า (สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ)
ทาง กลุ่มผู้ปกครองนักกีฬาบาสเกตบอลเยาวชนไทย จัดการแข่งขันรายการนี้มาปีหน้า เป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ที่จัดการแข่งขันมา ถือว่าประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง
เรื่องแรก ที่ประสบความสำเร็จ คือ เรื่องของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน มีทีมมากขึ้นทุกๆ ปี ปีแรก มี 4 ประเทศ ทั้งหมด 41 ทีม ในรุ่น 11 ปี, 13 ปี, 15 ปี, 17 ปี มาปีที่ 2 มี 12 ประเทศ 71 ทีม มีการปรับรุ่นให้สอดคล้องกับรุ่นที่ฟีบ้ากำหนด ได้แก่ รุ่น 12 ปี, 14 ปี, 16 ปี, 18 ปี ส่วนปีหน้า ที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ตอนนี้มีประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็น 14 ประเทศ แล้ว ส่วนใหญ่ เป็นชาติเดิม ทั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย, ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, เนปาล, ศรีลังกา, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย แต่ปีหน้าจะมี ซาอุดีอาระเบีย และ นิวซีแลนด์ ติดต่อขอเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมาด้วยอีก 2 ประเทศ และ อาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เพราะมี ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ อีก
เรื่องที่ 2 ที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ การแข่งขันรายการนี้ ทำให้วงการบาสเกตบอลเยาวชนตื่นตัว และสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศไทย ปีนี้ ที่สนามโรงเรียนนานาชาติรักบี้ จ.ชลบุรี แข่ง 4 วัน สร้างรายได้กว่า 40 ล้านบาท พร้อมทั้งช่วยในเรื่องสปอร์ตทัวริซึ่ม นักกีฬาจากแต่ละชาติที่มาร่วมการแข่งขัน จะมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ติดตาม มาด้วย จนสามารถช่วยสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น อย่างปีนี้ จัดการแข่งขันที่ชลบุรี สร้างรายได้ให้กับ ท้องถิ่น ร้านค้าต่างๆ เช่น ธุรกิจ ขนาดย่อมที่อยู่รอบๆ สนามแข่งขัน มีรายได้เพิ่มเติม เช่น ค่าอาหารของทีมงาน ผู้จัด ผู้ตัดสิน ฝ่ายจัดการแข่งขัน วันละ 30,000 บาท ยังไม่รวมค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เข้าประเทศที่มีมูลค่ามหาศาล
เรื่องที่ 3 ที่ประสบความสำเร็จ ก็คือเรื่องของการจัดการแข่งขันที่เราสามารถจัดการแข่งขันได้ตามมาตรฐานสากล ในการแข่งขันระดับเยาวชน ซึ่งการแข่งขันในทวีปเอเชีย มีไม่กี่ประเทศที่สามารถจัดการแข่งขันได้ตามมาตรฐานสากล ทุกๆ ทีมสนใจที่จะกลับมาเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศไทย พร้อมชื่นชมการจัดการแข่งขันของประเทศไทยในทุกๆ ด้าน
สำหรับการแข่งขันรายการนี้ในปีหน้า ตอนนี้อยู่ระหว่างหาสนามแข่งขัน อาจจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือสนามในต่างจังหวัดก็ได้ ซึ่งสนามที่ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการ ต้องเป็นสนามบาสเกตบอลปรับอากาศในอาคารอย่างน้อย 2-3 สนาม และ สนามบาสเกตบอลกลางแจ้งที่มีหลังคา 2-3 สนาม ซึ่งเราวางแผนที่จะจัดการแข่งขันประมาณปลายเดือน มิ.ย.-ต้นเดือนก.ค. นอกจากนี้ ได้ข่าวว่า มี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2568
ในเรื่องของสนามแข่งขัน อยากได้ความช่วยเหลือ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกีฬาบาสเกตบอลเยาวชน ขอให้ช่วยสนับสนุนการแข่งขันรายการนี้ เพื่อให้ประเทศไทยจัดการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่องทุกปี อยากให้เล็งเห็นความสำคัญของการแข่งขันรายการนี้ ที่เป็น รายการสำคัญในระดับเยาวชนนานาชาติ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล สำหรับการแข่งขันในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ไม่ใช่การแข่งขันภายในประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีให้นักกีฬาระดับเยาวชนไทย ได้ลงสนามแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือตัวเอง และเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ในการได้ลงสนามแข่งขันกับทีมชั้นนำในระดับนานาชาติ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา เราจัดการแข่งขันขึ้นมาโดยไม่ได้หวังผลกำไร