วุฒิสภาเร่งแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ฟื้นชีพท่องเที่ยวเกาะกูด
ปัญหาที่ดินทับซ้อนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะกูดมานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและเศรษฐกิจของชุมชน กมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนเกาะกูดและฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
ดร.จำลอง อนันตสุข สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา เผยว่า นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 1/2568 โดยในวาระพิจารณาปัญหาการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด
อันอาจเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินแปลงสงวนหวงห้ามใช้ในราชการกองทัพเรือ ซึ่งที่ประชุมรับทราบข้อมูลจากผู้แทนจากพื้นที่เกาะกูด ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด ผู้แทนจากอำเภอเกาะกูด ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ และผู้แทนจากกองทัพเรือ
โฆษก กมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่ออีกว่า ด้วยความตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน วุฒิสภาจึงให้ความสำคัญกับปัญหาที่ดินทับซ้อนบนเกาะกูด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะกูดมานานหลายปี ปัญหาที่ดินทับซ้อนดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบหลากหลาย เช่น การจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ การคมนาคมที่ยากลำบาก และการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางที่ดิน เนื่องจากถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ทั้งที่อาศัยและทำกินบนที่ดินผืนนั้นมานาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านย่ำแย่ลง และกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเกาะกูด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬาของวุฒิสภาจึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายหลักคือการหาทางออกที่ยั่งยืนทั้งในเรื่องที่ดินและการท่องเที่ยว เพื่อให้ชาวบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกาะกูดกลับมามีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
“ในส่วนของผลจากการประชุมร่วมกันครั้งนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก ชาวบ้านและกองทัพเรือพร้อมที่จะเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน โดยกองทัพเรือได้แสดงเจตจำนงที่จะพิจารณาถอนฟ้องคดี ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของพื้นที่อย่างมาก ทำให้เกาะกูดกลับมามีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา วุฒิสภา ยังมีแนวทางที่จะผลักดันให้มีการกำหนดแผนบริหารจัดการพื้นที่เกาะกูดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.จำลองกล่าวในตอนท้าย