จัดหางานจังหวัดประจวบฯจับแรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย
วันที่ 14 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดประจวบฯ ร่วมกับตำรวจสันติบาล ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดฯ และสำนักการข่าว กอ.รมน. ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบอาชีพผิดกฎหมายของคนต่างด้าวหลังแหล่งข่าวแจ้งว่า มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานและประกอบอาชีพนอกเหนือจากสิทธิจะทำได้ ก่อนเจ้าหน้าที่จะบูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณตลาดนัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบฯ พบมีแรงงานต่างด้าวเป็นหญิง 1 ราย กำลังนั่งจำหน่ายดอกไม้ประดับอยู่บริเวณริมทางเดินภายในตลาดสดตามที่แหล่งข่าวในพื้นที่รายงาน จึงขอตรวจในอนุญาตทำงาน พบว่าเข้ามาทำอาชีพกรีดยางโดยมีนายจ้างถูกต้อง แต่กลับมาประกอบอาชีพนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเป็นอาชีพสงวนไว้ให้คนไทยเพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไว้ก่อน
จากนั้นเวลาเดียวกันเข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับการรับทำเอกสารต่อพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวภายในห้องแถวเป็นตึกสองชั้นห่างจากตลาดประมาณ 50 เมตร โดยภายในมีสภาพจัดเป็นสำนักงานมีเอกสารรับต่อพาสปอร์ต มีพนักงานสองรายเป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน คอยให้บริการจัดทำเอกสารต่อพาสปอร์ตให้แก่แรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจดูในอนุญาตทำงาน พบว่าทั้ง 2 เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำอาชีพกรีดยาง มีนายจ้างถูกต้อง แต่กลับมาประกอบอาชีพนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้โดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงนำตัวแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 ราย ขึ้นรถตู้สำนักงานฯไปให้ปากคำเพิ่มที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดประจวบฯ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาให้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 คน ว่าเป็นคนตต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2561 มาตรา 8 ห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ประกอบกับ มาตรา 101 คนต่างด้าวผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท จากนั้นจึงควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 ราย ส่ง สภ.คลองวาฬ นำเนินคดีตามกฎหมายต่อ ส่วนนายจ้างทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดประจวบฯจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า ยังมีแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างถูกกฎหมายเข้ามาทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเป็นอาชีพสงวนให้คนไทยอีกมาก เช่นเข้ามาทำกิจการร้านขายทอง ค้าขายทั่วไป และขับรถรับส่งฯ รับทำเอกสารต่อพาสปอร์ต ซึ่งทั้งหมดมักจะมีนายจ้างถูกต้อง แต่กลับมาทำอาชีพไม่ตรงปก หรือไม่ตรงกับเอกสารที่นายจ้างขอ ซึ่งก็ยังมีการต่อพาสปอร์ตเข้าทำงานอยู่ตลอด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับได้ก็จะมีนายจ้างมาแสดงตนเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย จากนั้นก็ยังพบว่ายังคงกลับมาทำอาชีพต้องห้ามต่ออีก ซึ่งรัฐควรมีมาตรการตรวจสอบควบคุมกลุ่มนายจ้างบางรายนำแรงงานต่างด้าวไปประกอบอาชีพไม่ตรงปกให้เข้มข้นมากกว่านี้
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 064-364-1644