23-01-68 พี่เสือ นักข่าวสงขลา
ฮือฮา.!! คู่รักเพศเดียวกันแห่จดทะเบียนสมรสวันแรก หลังจากมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกใช้
วันนี้ 23 มกราคม 2568 หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในไทย คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียม และได้รับสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคู่สมรสโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ
กิจกรรม Kick Off และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ทั้ง 878 แห่ง พร้อมทั้งสำนักงานเขต ใน กทม. 50 เขต รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง ในวันที่ 23 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักตามแนวคิด “กรมการปกครองยินดีเป็นนายทะเบียนให้กับทุกความรัก”
ซึ่งบรรยากาศที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีคู่รักจากพื้นที่เมืองท่องเที่ยวชายแดนไทย-มาเลเซีย คือนาย ดุจษะนันทน์ รชุดา หรือเจ้เมย์ อายุ 58 ปี มากับนาย ชรนนีดัน จันทร์หอม อายุ 21 ปี พร้อมด้วยเด็กน้อยอีก 1 คน….เดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ โดยเจ้เมย์แต่งตัวในชุดเจ้าสาวอย่างสวยงาม ส่วนนายชรนนีดันฯ มาในชุดสูทเจ้าบ่าวสีทอง
ซึ่งทั้งคู่ได้เข้ารับการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมเป็นคู่แรกกับ นางเพ็ญประภา ทองตรัง ปลัดอำเภอกลุ่มงานทะเบียนและบัตร มีนายวิเชษต์ สายกี้เส้ง นายอำเภอสะเดาร่วมเป็นสักขีพยานและให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต…. พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่คู่รักดังกล่าวด้วย
เจ้เมย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนเองรู้สึกดีใจมาก เป็นวันที่รอคอยมานานแสนนาน ซึ่งการจดทะเบียนฯในวันนี้มันแสดงถึงความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่แบ่งแยกเพศ และให้โอกาสในการทำธุรกรรมต่างๆง่ายขึ้น…
ด้านอาจารย์สาว (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) จากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.สะเดา เปิดเผยว่าส่วนตัวแล้วมองว่า การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่สิ่งที่จะยืนยันการใช้ชีวิตร่วมกันของคนสองคน แต่ทะเบียนสมรสเป็นเหมือนหน้ากากเบื้องหน้า ที่ทำหน้าที่พิสูจน์ความจริงใจ พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ พิสูจน์ความรัก หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่คนสองคนจะให้ความหมาย และหลายๆ ครั้งที่เราเห็น การใช้ทะเบียนสมรสมาทำร้ายกัน มาฟ้องร้องกัน มาเรียกร้องการกระทำผิด การนอกใจจากอีกฝ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนับว่าดีนะ เพราะจะทำให้การทำธุรกรรม การใช้สิทธิต่างๆจะทำได้ง่ายขึ้น
สำหรับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการมีผลบังคับใช้ 22 มกราคม 2568 การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้นับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับชุมชน LGBTQ+ ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้