กีฬาข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

หญิงข้ามเพศคว้าแชมป์ลูกเด้ง “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์

หญิงข้ามเพศคว้าแชมป์ลูกเด้ง “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์

เปิดมิติใหม่ เทเบิลเทนนิส“ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์”.ให้ LGBT ลงแข่ง สุ-รุ่งระวี สุชาดา เวสท์ สาวข้ามเพศ จากโปลิศ วี คว้า 2 ทอง รุ่น 40-49 ปี หญิงเดี่ยว และทีมหญิงร่วมกับ หนึ่ง -ณัฐ เมลล์เซอร์ และ เก๋-จิรกิตต์ วิทยากุลวงศ์ ด้าน อดีตทีมชาติ ภาคภูมิ สงวนสิน จากนิวเวย์ได้ 2 ทอง รุ่น 40-49 ปี ขณะที่ แชมป์รุ่นอายุ 80 ปี ขึ้นไป หญิงเดี่ยว รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี มาไลยพันธ์ อดีตอ.ม.เกษตรศาสตร์ วัย 81 ปี จากโปลิศ วี และ ชายเดี่ยว บุญญฤทธิ์ วาณิชยพงษ์ อายุ 81 ปี จาก ไอทีซี โกลบอล
การแข่งขันกีฬาสูงอายุนานาชาติ “ไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์” (Thailand Open Masters Games) ครั้งที่ 5 กรุงเทพมหานคร (TOMG) ระหว่างวันที่ 18-27 มกราคม 2568 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ


เทเบิลเทนนิส ที่แจ้งวัฒนะ ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ โดยมี นายณัฐวุฒิ เรืองเซส นายกสมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทย และนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย เป็นประธานปิดการแข่งขัน และมองรางวัลให้กับนักกีฬา โดยประเภททีม มี นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส เลขาธิการสมาคมผู้สูงอายุไทย และจันทร พิมพ์สกุล กรรมการบริหารและเหรัญญิก สมาคมผู้สูงอายุไทย ร่วมมอบรางวัล ส่วนประเภทบุคคล มีนายชูสกุล วารายานนท์ กรรมการบริหารสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย และ นายนิวัฒน์ เสมาเงิน อุปนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ร่วมมอบรางวัล
รุ่นอายุ 40-49 ปี ทีมหญิง มี LGBT ผู้หญิงข้ามเพศ ลงแข่งขัน 3 คน ได้แก่ หนึ่ง -ณัฐ เมลล์เซอร์ อายุ 58 ปี, เก๋-จิรกิตต์ วิทยากุลวงศ์ และ สุ-รุ่งระวี สุชาดา เวสท์ จากโปลิศ วี สามารถเอาชนะ คู่แข่งสโมสรเดียวกัน กันทิมา ภิระบรรณ์ , ศรีวลีย์ อริยมูลพงษ์, เกศิณี วิวรรณธนานุตร์, ภูริดา ศิริพงศ์อรัญ จากโปลิศ วี 3-0
ส่วนหญิงเดี่ยว สุ-รุ่งระวี สุชาดา เวสท์ จากโปลิศ วี ชนะ กันทิมา ภิระบรรณ์ จากโปลิศ วี 3-2 (11-7, 9-11, 3-11, 11-8, 13-11) ทำให้คว้า 2 ทอง โดยมี เก๋-จิรกิตต์ วิทยากุลวงศ์ จากโปลิศ วี ได้เหรียญทองแดง
รุ่น 40-49 ปี ทีมชาย มีอดีตทีมชาติ ภาคภูมิ สงวนสิน และ ธนันต์ พิภพผล ชุด ซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่มาเลเซีย ปี 2544 ร่วมด้วย ธนภูมิ บุตรนาค และ เสกพงษ์ ยมจินดา จาก นิวเวย์ ลงแข่งขัน คว้าเหรียญทอง ด้วยการเอาชนะ เอ็นซีเอ็น เทเบิลเทนนิส ที่มีเศกศักดิ์ คมขำ อดีตทีมชาติ เหรียญเงินประเภททีมชายในซีเกมส์ 2003 ที่เวียดนาม, สมพงษ์ ตามเพชรเดิม, ชนพัฒน์ คูหามงคล และธัชพล มงคลเกิดกิจ 3-1
ชายเดี่ยว ภาคภูมิ สงวนสิน จากนิวเวยฺ์ ชนะ เศกศักดิ์ คมขำ จาก เอ็นซีเอ็น เทเบิลเทนนิส 3-0 (11-9,11-7,11-6) ทำให้คว้า 2 ทอง


ในรุ่นนี้ มี โกสินทร์ อัตตโนรักษ์ พิธิกร ผู้ประกาศข่าว ผู้บรรยายกีฬา จาก วันแมนโชว์ ลงแข่งด้วย ตกรอบแรก รอบแบ่งกลุ่มชายเดี่ยว ส่วนทีมชาย ตกรอบ 16 ทีม
รุ่น 50-59 ปี ทีมชาย ชัยวิทย์ เตชะวิศวกิจ อายุ 55 ปี เงินซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ ฟิลิปปินส์ และ ทองแดง ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ พร้อมด้วย อังกูร วาณิชยพงษ์, จาตุรงค์ วินทะไชย จากเอ็นซีเอ็น เทเบิลเทนนิส ชนะ สมศักดิ์ การถาง -สมบัติ กลมเกลียว จาก ปิงปอง เฮาส์ โคราช 3-1
ชายเดี่ยว เปรม ภิญโญไพศาล จากเอ็นซีเอ็น เทเบิลเทนนิส ชนะ อังกูร วาณิชยพงษ์ จากเอ็นซีเอ็น เทเบิลเทนนิส 3-1 (11-2, 7-11, 11-6, 11-9)
ส่วน วิชิต เถลิงพล อดีตทีมชาติ เหรียญเงินซีเกมส์ ปี 2530 ครั้งที่ 14 ที่ อินโดนีเซีย และเหรียญทองแดง ครั้งที่ 16 ที่ฟิลิปปินส์ จากไทยรุ่ง ทีมชาย ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ ส่วนชายเดี่ยวตกรอบแรก รอบแบ่งกลุ่ม
รุ่น 50-59 ปี ทีมหญิง สรินยา แซ่ก๊วย-ลักษณา ฉิมณรงค์ จาก โปลิศ วี ชนะ น้ำผึ้ง รุ่งโชติ, กรณีฏฐ์ พุทธิ, จารุณี ร่มโพธิฺ์ธรรม จากโปลิศ วี 3-1
หญิงเดี่ยว จินตนา โลหะรัตน์ จากไอทีซี โกลบอล ชนะ น้ำผึ้ง รุ่งโชติ จากโปลิศ วี 3-1 (11-10, 11-6, 7-11, 11-9)
รุ่นอายุ 60-64 ปี ทีมชาย โปลิศ วี ทีมี พูนศักดิ์ แซ่อึ้ง , สุวัตร นันทวิทยา, สุรพล ฉัตรวิชัย, กิตติชัย ธีระรัชตะอนันต์ชนะ อุดม สุขสุดประเสริฐ อุปนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย อดีตทีมชาติ, ประเสริฐ เรืองศรีเจริญรุ่ง อดีตทีมชาติ, ประธาน เตชะวิเชียร และประเสริฐ เบญจพรรักษา จากโปลิศ วี 3-0
ชายเดี่ยว ประเสริฐ เรืองศรีเจริญรุ่ง อดีตทีมชาติ จากโปลิศวี ชนะผ่าน ปรวีร์ สุขรัตนปรีชา จากไอทีซี โกลบอล
รุ่นอายุ 60-64 ปี ทีมหญิง นารี สุขสุดประเสริฐ ภรรยาอุดม สุขสุดประเสริฐ, สายฝน รัตนตรัย, รัตนา อุเทนสุดจาก โปลิศ วี ชนะ จันทร์ฉาย เพียรพินิจ, บุญจิต แซ่ตัน จาก โปลิศ วี 3-0 ด้าน เครือวัลย์ พิพิธธรรม อดีตทีมชาติ และ ณสรัลย์ สลิลจันทร จาก เฟรนด์ลี เฟรนด์ลี ได้ที่ 3
หญิงเดี่ยว สุวพร ประพฤทธิกุล จากไอทีซี โกบอล ชนะ จันทร์ฉาย เพียรพินิจ จากโปลิศวี 3-0 (11-9, 11-9, 13-11)
รุ่นอายุ 65 ปี ขึ้นไป ทีมชาย บุญส่ง เลาหกิตติการ, ภาณุวัฒน์ สุริยฉัตร, ชิดชัย นิมิตรสกุลชัย จากโปลิศ วี ชนะ บีโอบี เอสจี จากสิงคโปร์ 3-0
รุ่นอายุ 65 ปี ขึ้นไป ทีมหญิง ยอดแก้ว กิตติวรารัตน์, อลงกรณ์ แฉ่งเจริญ, ประไพ ศรีสุนทรไท จากโปลิศ วี ชนะ ภัสรา อินทรกำแหง, รุจนี ธีราวัฒนาวิทย์ จาก เอสเอ็มซี 3-2
รุ่นอายุ 65-69 ปี ชายเดี่ยว วิโรจน์ พงศ์เต็มสุข จากโปลิศ วี ชนะ รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สุริยฉัตร จากโปลิศ วี 3-0 (11-8,11-5,11-10)
รุ่นอายุ 65-69 ปี หญิงเดี่ยว สายฝน รัตนตรัย จากโปลิศ วี ชนะ อลงกรณ์ แฉ่งเจริญ จากโปลิศ วี 3-1 (12-14, 12-10, 11-4, 11-8)
รุ่น 70-74 ปี ชายเดี่ยว สมสุข เลิศมงคล จากโปลิศวี ชนะ อาหมัด ลาตีฟ จากทหารผ่านศึกมัลดิฟท์เทเบิลเทนนิส 3-1 (11-6, 6-11, 11-7, 11-9)
รุ่น 70-74 ปี หญิงเดี่ยว วิไลวรรณ อ้นสุวรรณ จากโปลิศวี ชนะ ศิริพร ตรงมา 3-1 (13-11, 10-12, 11-7, 11-7)
ด้าน อร่าม แสนวิเศษ อายุ 77 ปี จาก โปลิศวี อดีตทีมชาติ ที่หยุดเล่นเทเบิลเทนนิส ไป 30 กว่า ปี เพิ่งกลับมาแข่งได้ 4-5 ปี ลงแข่งไทยแลนด์โอเพ่นมาสเตอร์เกมส์ เป็นครั้งแรก ตกรอบแรก รุ่น 70-74 ปี หญิงเดี่ยว และ ได้ทองแดง รุ่นอายุ 65 ปี ขึ้นไป ทีมหญิง
รุ่น 75-79 ปี ชายเดี่ยว เจริญ คชรินทร์ จากไอทีซี โกลบอล ชนะ เอิร์ล สโตวอลล์ จากเชียงใหม่ 3-0 (21-4, 21-4, 21-3)
รุ่น 80 ปีขึ้นไป หญิงเดี่ยว รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี มาไลยพันธ์ อดีตอาจารย์คณะเกษตร ภาควิชา กีฏวิทยาม.เกษตรศาสตร์ ชนะ ชนิสรา บรรดาประณีต (เอสเอ็มซี) 3-1 (11-8, 11-9, 9-11, 11-5)
รุ่น 80 ปีขึ้นไป ชายเดี่ยว แชมป์ บุญญฤทธิ์ วาณิชยพงษ์ อดีตข้าราชการไปรษณีย์ อายุ 81 ปี
อังกูร วาณิชยพงษ์ ลูกชาย บุญญฤทธิ์ วาณิชยพงษ์ อายุ 52 ปี เปิดเผยว่า คุณพ่อ บุญญฤทธิ์ เคย แข่งรายการนี้ มา 2 ครั้ง ได้ แชมป์รุ่น 70 ขึ้นไป ที่เขียงใหม่ ปีนี้ มีการเพิ่มรุ่น 80 ปี ปีแรก ส่วนผมแข่งพร้อมคุณพ่อ เล่นทั้งครอบครัว ที่ เชียงใหม่ได้แชมป์ มาปีนี้ ได้รองแชมป์ ชายเดี่ยว รุ่น 50-59 ปี และแชมป์ทีมชาย


ณัฐ เมลล์เซอร์ อายุ 58 ปี เปิดเผยว่า บ้านอยู่บางแสน เคยเป็นมิสทิฟฟานี คนแรกของเมืองไทย และ ทำงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย แหลมฉบัง 2 ปี จากนั้น แต่งงานกับ โยเก้น เมลเซอร์ ชาวเยอรมัน เลยย้ายไป อยู่ที่เยอรมนีจนถึงปัจจุบัน มีพาสปอร์ตสัญชาติเยอรมนีด้วย แต่บินมาเมืองไทยตลอด ได้ผ่าตัดเปลี่ยนเพศสภาพมาเป็นผู้หญิงได้ 40 ปี แล้ว ก่อนหน้านี้เคยเปิดร้านอาหาร แต่พอมาทำทีมเทเบิลเทนนิส เลยขายกิจการ ทำทีมสนับสนุนเด็กเยาวชนมืองไทยไปฝึกซ้อมที่เยอรมัน
ส่วนตัวเพิ่งเล่นเทเบิลเทนิสได้ 5-6 ปี ตอนนี้เป็นเจ้าของทีม ซางออกู๊ดตีน แข่งลีกเยอรมัน บุนเดสลีกา เป็นสโมสร ที่มีสมาชิก 100 กว่า คน มี ฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน และ นักกีฬา ไทย มีทีมชาติ ทิพย์ อรวรรณ พานะนัง, ภูเดช ปานเฟือง เบอร์ 1 ประเทศ, ปัณณทัต ตั้งบวรพิเชฐ และ นาวิน เมฆอัมพร ที่ไปเล่นอาชีพที่เยอรมันให้กับทีม นอกจากนี้ ในเมืองไทย ก็สนับสนุนทีม.ธนบุรี และอยู่ทีมโปลิศ วี ทีมตำรวจ เราเป็นเจ้าของทีม จะคุมเด็ก พาเด็กไปแข่ง แต่ถ้าเด็กไม่แข่ง ก็จะแข่งเอง แข่งลีกเล็กๆ ยังเล่นไม่เก่ง ชอบที่จะปลุกปั้นเด็กไทยไปเล่นอาชีพที่ต่างประเทศ เน้นสนับสนุนเด็กมากกว่า
เก๋-จิรกิตต์ วิทยากุลวงศ์ อายุ 53 ปี ย่าง 54 ปี เปิดเผยว่า ตอนนี้ เปิดรีสอร์ทและร้านค้า วรากร รีสอร์ท ที่อัมพวา สมุทรสงคราม พวกเราสามารถลงแข่งได้ ในประเภทหญิงได้ เพราะ ทุกคนมีใบยืนยันการผ่าตัดปลี่ยนเพศสภาพเป็นผู้หญิง ส่วนตัวเองผ่าตัดมา 30 ปีแล้ว ขอบคุณทางสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ที่ เปิดโอกาศให้ กลุ่ม LGBT ได้เล่นกีฬาตามเพศสภาพ เป็นสิทธิที่พวกเราควรจะได้รับในไทย การเล่นเทเบิลเทนนิส ใช้ สมองและทักษะมากกว่าการใช้พละกำลัง มีการใช้พละกำลังนิดหน่อย เราตั้งใจฝึกซ้อมทุกวัน เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า เทเบิลเทนนิส ไม่ใช่ มวย เทนนิส ยกน้ำหนัก ที่ต้องใข้พละกำลัง ร่างกาย มีการได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องร่างกาย เรามาแข่งในประเภทหญิง มีคนต่อว่าลับหลังเยอะ บางคนไม่ยอมรับ มีหลายคนประท้วง จริงๆ เทเบิลเทนนิสต้องฝึกฝน ฝึกซ้อมเพิ่มพูนทักษะของตัวเอง ด้วยการใช้สมองมากกว่า ไม่ใช่การใช้ร่างกาย เคยเห็นนักปิงปองตัวเล็กกว่ายังสามารถเอาชนะคนตัวโตกว่าได้ ถ้ากีฬาเทเบิลเทนนิส ขึ้นอยู่กับคนที่มีกำลังแรงกว่าก็ต้องเป็นคนตัวโตกว่าที่ชนะ แต่นี่ไม่ใช่
สำหรับตัวเองเล่นเทเบิลเทนนิสมาตั้งแต่เด็ก ได้แชมป์กรมพลศึกษา กทม.อายุ 15-16 ปี เลิกเล่นตอน 17 ปี กลับมาเล่นตอนอายุ 47 ปี เคยเป็นแชมป์ออลไทยแลนด์ แชมป์มาสเตอร์ของประเทศไทย ส่วน ไทยแลนด์โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ แข่งที่ชลบุรี ได้รองแชมป์ประเภททีม เคยแข่งมาหลายรายการเคยแข่งแพ้เยาวชนทีมชาติ และเคยชนะผู้หญิง ได้แชมป์ แต่มีคนมาโพสต์ด่า เพราะหาว่า กระเทยเอาชนะผู้หญิง ไม่แฟร์ เป็นสามีของผู้หญิงที่เราชนะ เค้าไม่ยอมรับว่าเราชนะภรรยาของเค้าได้ เราไม่อยากแบ่งแยก ไม่สนใจคนที่ต่อว่าลับหลัง หรือไม่เห็นด้วย คนที่จิตใจดียังมีอีกมากมาย ที่ยอมรับตัวตนของเรา ไม่คิดเรื่องนี้
ตอนนี้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ทำให้ทุกคนยอมรับตัวตนของเราได้เป็นอีกหนึ่งความสุข เป็นสิ่งที่ดี เรามาเล่นกีฬาด้วยความรัก รู้สึกยินดี ที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นที่เมืองไทย เรารู้ว่า จะมีความเท่าเทียมกันเกิดขึ้น อย่างรายการไทยโอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ เป็นการแข่งขันระดับอินเตอร์ ที่มีการนำร่องอย่างสุดยอดมาก ให้กลุ่ม LGBT ได้มาแข่งขันตามเพศสภาพของเรา
สุ-รุ่งระวี สุชาดา เวสท์ อายุ 52 ปี เปิดเผยว่า ตอนนี้ เป็นชาวอังกฤษ มีพาสปอร์ตทั้งไทยและอังกฤษ เราแต่งงงานกับสามีพอล ชาวอังกฤษ เล่นกีฬาเทเบิลเทนนิส มาได้ 13 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ตอนไปอังกฤษ ไปตีปิงปองในหมู่บ้าน ที่โบสถ์ เราอยู่อังกฤษมา 7 ปี ตอนนี้กลับมาอยู่ที่ไทยเกือบ 13 ปี แล้ว เลยมาแข่งขัน เราทั้ง 3 คนรู้จักกัน เพราะแข่งเทเบิลเทนนิสเจอกัน รายการนี้ ใช้พาสปอร์ต แข่ง เปลี่ยนเพศสภาพเป็นผู้หญิง ตั้งแต่จบคณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

สมัยเด็กๆ เล่นกีฬา หลายอย่าง เช่น วอลเลย์บอล กระโดดไกล กระโดดสูง วิ่ง ตอนประถมแข่งระดับตัวอำเภอ ตำบล จังหวัด มุกดาหาร ได้ที่ 1 ตลอด เคยแข่งวอลเลย์บอล ตอน ม.ต้น ช่วงนั้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พับขาไม่ได้ เลยเลิกเล่นกรีฑาและกีฬาอื่นๆ ตอนม.ต้น เนื่องจากวิ่งไม่ได้ พอม.ปลายมาเรียนที่กทม.ที่วัดสระเกศ เราไม่กล้าเปิดตัว เพราะกลัว เลยแอ๊บแมน จนตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 2 รู้สึกทนไม่ไหว ไม่อยากที่จะปิดบังตัวเอง เลยแกรนด์โอเพ่นนิ่ง เปิดตัวว่า เราเป็นแบบนี้
สำหรับรายการนี้ ได้ 2 ทอง ด้วยการเอาชนะ กันทิมา ภิระบรรณ์ เป็นรุ่นน้องคณะศึกษาศาสตร์ ม เกษตรศาสตร์ ดีใจมากๆ
ด้านชลิดา พวงพี่, จันทร์พิมพ์ พริ้งศุลกะ และ จันทิมา บุญสิทธิ์ จาก ชลบุรี เปิดเผยว่า การแข่งกับกลุ่ม LGBT ไม่มีปัญหา กีฬามีแพ้มีชนะ พวกเรายอมรับได้