ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

กำแพงเพชร – เกษตรกำแพงเพชรสร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กำแพงเพชร////// เกษตรกำแพงเพชรสร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีนายธนดล วงษ์ขันธ์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชรกล่าวรายงาน. นายสิทธิชัย ณรังสี ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง อำเภอคลองขลุง กล่าวต้อนรับ นายอนันต์. ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชรเขต3 หัวหน้าส่วนในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการอำเภอคลองขลุง ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน แขกผู้มีเกียรติและเกษตรกร ร่วมงานกว่า 500 ราย


นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปีโดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรซึ่งการเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากรวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรงกล่าวคือทำให้ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นรัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตรและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผารวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป ประเทศไทยมีพื้นที่เขตเกษตรกรรม 153,184,527 ไร่ หรือร้อยละ 47.77 ของพื้นที่ประเทศไทย เพื่อรองรับเกษตรกรจำนวน 5.8 ล้านครัวเรือนมีการผลิตพืชผลทางการเกษตรกว่า200 ชนิดเกิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายประเภทเช่นฟางข้าวใบไม้เปลือกผลไม้เปลือกถั่วแกลบและซังข้าวโพดวัสดุเหล่านี้มีปริมาณมากและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีมีปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ80 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ100,000 ล้านบาท(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2565). ข้อมูลสถิติการเกษตร) เกษตรกรและชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่มีการวางแผนในการจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรมักเผาเศษวัสดุในพื้นที่เพื่อทำการเกษตรฤดูถัดไปหรือทิ้งไม่นำมาใช้ประโยชน์ซึ่งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีปริมาณมากและเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรปลูกพืชใช้น้ำน้อย และนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าลดต้นทุนการผลิต สร้างเพิ่มรายได้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


การบริหารจัดการพื้นที่ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และการสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชนกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ให้จังหวัดกำแพงเพชร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายธนดล วงษ์ขันธ์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาล กำหนดมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง ปี 2568และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 256768 ให้พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่เกษตรลง ร้อยละ ๓๐ จากปี2567 ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 จำนวน 1,246,050 ไร่ และยังมีเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่มีแผนบริหารจัดการเศษวัสดุจำนวน 444,708 ไร่ และในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2568 ยังมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวที่มีการเพาะปลูกในฤดูนาปรังอีกมากกว่า 400,000 ไร่ ซึ่งจะมีเศษวัสดุเหลือใช้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงผลกระทบและผลเสียจากการเผา รวมทั้งการแนะนำหรือส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงทางเลือกเพื่อที่จะไม่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดงานวันรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day)/ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ถึงวิธีการหรือแนวทาง ในการบริหารจัดการ การผลิตโดยการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และยังเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและไม่ก่อมลพิษทางอากาศ ผลของการเรียนรู้ยังสามารถนำไปขยายผลต่อในพื้นที่ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตร ลดการเผา เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน การจัดงานในวันนี้ มีเป้าหมายเกษตรกรคือ เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ และเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมจัดทำแปลงเรียนรู้ การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 350 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรจาก 8 อำเภอ ได้แก่อำเภอคลองขลุง อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อำเภอปางศิลาทอง และอำเภอบึงสามัคคี และมีหน่วยงานภาคีภาครัฐ และเอกชนร่วมให้ความรู้แก่เกษตรกร กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การจัดฐานเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ฐานที่ 1 การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (การปลูกพืชใช้น้ำน้อย) ฐานที่ 2 เทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวในการทำการเกษตร (การทำนาแบบตัดตอซัง) ฐานที่ 3 การเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร (การเพาะเห็ดฟาง ในตระกร้า) ฐานที่ 4 การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษวัสดุทางการเกษตร และ การจัดการดินอย่างยั่งยืน- ฐานที่ ๕ เกษตรอัจฉริยะ และนอกจากนี้ยังมีการ นิทรรศการถ่ายทอดความความรู้ และเทคโนโลยีจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน


สุเทพ อินทจันทร์ กำแพงเพชร