ข่าวพาดหัวตรวจสอบ

สว.ลุยเอาผิดทุนจีนรุกที่อ่างเก็บน้ำ ปลูกสวนทุเรียนกว่า 100 ไร่ จ่อรื้อถอน-ปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติ

สว.ลุยเอาผิดทุนจีนรุกที่อ่างเก็บน้ำ ปลูกสวนทุเรียนกว่า 100 ไร่ จ่อรื้อถอน-ปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติ

วุฒิสภาผนึกกำลัง 2 กรรมาธิการ ลุยสำรวจทุนจีนรุกป่าอ่างเก็บน้ำ จ.ตราดและจ.จันทบุรี พร้อมแนะให้แจ้งความดำเนินคดีอีกครั้งด้วย พรบ.ป่าสงวนฯ เพื่อยึดคืนให้ได้

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา , นายกิติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายและยุติธรรม วุฒิสภา , นายกัมพล ทองชิว ที่ปรึกษากมธ. , นายธีรวิทย์ โชติ , นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ , นายการุณย์ พิมพ์สังกุล เลขานุการ นายศุภารัฏฐ์ ธันยพัฒน์ ผู้ช่วยเลขานุการ นำคณะลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง อ.บ่อไร่ จ.ตราด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายทุนจีนบุกรุกป่าและปลูกทุเรียนภายในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน

จากการตรวจสอบพบการขุดแผ้วถางป่าเพื่อทำสวนทุเรียนจำนวน 3 จุด โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกลางน้ำ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ถูกแปรภาพจากป่าธรรมชาติทั้งหมดให้กลายเป็นสวนทุเรียน ประมาณ 130 ไร่ รวมทั้งยังพบการสร้างอาคารถาวร 2 หลัง แต่ไม่พบตัวผู้กระทำผิด

นายชีวะภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกรมชลประทานได้เข้าไปจับกุมดำเนินคดีมาตั้งแต่ ปี 2549 จนกระทั่งปัจจุบัน รวมประมาณ 16 คดี โดยใช้ พ.ร.บ.ชลประทาน ซึ่งมีโทษแค่ปรับ ไม่กี่พันบาท จึงแนะนำให้กรมชลประทานร่วมกับกรมป่าไม้เข้าแจ้งความดำเนินคดีใหม่ โดยใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโทษตามกฎหมายรุนแรงกว่า และสามารถตัดโค่นสวนทุเรียนทั้งหมดได้ เพื่อยึดคืนพื้นมาปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติต่อไป

“ผมมองว่า หน่วยงานที่เข้าไปให้ข้อมูลที่วุฒิสภาระบุว่า มีการใช้กฏหมายที่เบาเกินไปทำให้ผูักระทำผิดไม่เกรงกลัว เราจึงแนะนำให้ใช้ยาแรง ซึ่งพื้นที่นี้ในเขตชลประทานได้รับการใช้ประโยชน์แล้ว ให้ใช้บังคับคดีด้วยพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ และนำกฏหมายตามพรบ.ชลประทาน มาใช้และใช้ทั้งสองพรบ.ก็จะดีขึ้นและเมื่อตรวจสอบแล้วว่าเป็นกลุ่มทุนมาบุกรุกก็จะประกาศรื้อถอนทันที และก็มีอำนาจตัดทุเรียนออกได้เพราะเป็นของนายทุน จากนั้นชลประทานก็หางบมาปลูกป่าต่อไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทุนจีนหรือทุนไทยก็ตามก็จะต้องถูกดำเนินการไม่ว่าเป็นใครทั้งนั้น สำหรับเรื่องการปลูกทุเรียนเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้รายได้เข้าประเทศมากขึ้น แต่ถ้าเป็นทุนจีนที่เข้ามาลงทุนและมาบุกรุกก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทุกคน ทุกหน่วงยงานจะต้องไม่ยอมแพ้กับเรื่องนี้” นายชีวะภาพกล่าว.

จากนั้นนายชีวะภาพ ได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณอ่างเก็บน้ำคิรีธาร อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นอีกจุดที่พบการทำสวนทุเรียนในอ่างเก็บน้ำเช่นเดียวกัน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี , พ.ต.อ.ธราเทพ ตูพานิช รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง

จากการตรวจสอบพบการบุกรุกป่าเพื่อทำสวนทุเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะกลางอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีขนาดกว่า 250 ไร่ โดยบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ต้องได้รับการตรวจสอบสิทธิ์การครอบครอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน โดยล่าสุดกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกแล้ว 2 ราย และได้อยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีอีก 15 ราย รวม 21 แปลงที่ดิน

ด้านนายชีวะภาพ ยอมรับว่าหลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ จึงมีความชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนของกรมพลังงานน้ำและป่าไม้ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีกลุ่มทุนจีนตามที่กล่าวอ้าง ส่วนชาวบ้านที่เคยทำกินอยู่ปัจจุบันก็สามารถทำกินต่อได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถบุกรุกเพิ่มเติมได้อีกต่อไปแล้ว