ข่าวทั่วไป

ชาวบ้านตำบลชัยจุมพลและตำบลทุ่งยั้งจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอความช่วยเหลือหลังพื้นที่ทำกินจะถูกศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมีการโครงการจะล้อมรั้วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

ชาวบ้านตำบลชัยจุมพลและตำบลทุ่งยั้งจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอความช่วยเหลือหลังพื้นที่ทำกินจะถูกศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมีการโครงการจะล้อมรั้วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
เมื่อเวลา 13.30 น.ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 64 นายสมศักดิ์ สุทธะตั้ง กำนันตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล ได้นำลูกบ้าน 20 ครอบครัว จากหมู่ 6 ตำบลชัยจุมพลและหมู่ 8 ตำบลทุ่งยั้ง จำนวนกว่า 20 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์จะทำการล้อมรั้วทำให้ที่ดินของราษฎรกลุ่มดังกล่าวไม่มีทางเข้าออกทำให้ได้รับความเดือดร้อน เข้าพบนายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายชัชวาล จั่นฉิม ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่าที่ดินดังกล่าวได้ทำกินมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ของตนตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 อยู่ๆศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ก็จะมาทำการล้อมรั้วที่ดินดังกล่าวทำให้ตนเองและพรรคพวกต้องเดือดร้อนและตนเองก็จะไม่มีที่ดินทำกินอีก นายชัชวาล กล่าวอีกว่าตนเองและพวกได้อาศัยที่ดินดังกล่าวปลูกหอมแดง ปลูกน้อยหน่าและปลูกทุเรียนจนขณะนี้ทุเรียนให้ผลผลิตแล้วและชาวบ้านก็ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดเพียงแต่ต้องการอาศัยที่ดินดังกล่าวในการทำกินต่อไปเท่านั้น

ด้าน นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือทางอำเภอลับแลและตัวแทนเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าร่วมประชุม ซึ่งทางอำเภอลับแลแจ้งว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์เลขที่ อต 0938 ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันเนื้อที่ 630 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา ซึ่งได้มีการออกโฉนดที่สาธารณประโยชน์แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ต่อมาทางตัวแทนเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กล่าวว่าทางศุนย์วิจัยได้รับงบประมาณในการสร้างรั้วมาและได้ให้ทางผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำการสร้างรั้วดังกล่าวขึ้น
ซึ่งนายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กล่าวว่าเนื้อที่ของศูนย์วิจัยทั้งหมดมีจำนวนกว่า 630 ไร่ ทางศูนย์วิจัยมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะใช้พื้นที่จำนวน 630 ไร่ทั้งหมด หากเป็นไปได้ขอให้ระงับการก่อสร้างรั้วไว้ก่อนและขอให้พิจารณากันพื้นที่ที่ราษฎรทำกินอยู่จำนวน 100 ไร่ เข้าสู่โครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท(คทช)เพื่อใช้ที่ดินทำกินอย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับราษฎรกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมากและยินดีเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป
ปวินท์ อินกล่ำ รายงาน