ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

อ่างทอง – ประเมินการยกระดับผู้ผลิตภัณฑ์จักสานเป็นชุมชนจักสานมืออาชีพพื้นที่แรกของไทย

อ่างทอง ประเมินการยกระดับผู้ผลิตภัณฑ์จักสานเป็นชุมชนจักสานมืออาชีพพื้นที่แรกของไทย

สคช. จัดประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขางานเครื่องจักสาน อาชีพผู้ผลิตเครื่องจักสานสำหรับงานอนุรักษ์ ระดับ 5 และอาชีพผู้ผลิตเครื่องจักสานร่วมสมัย ระดับ 6


วันที่ 21 เม.ย. 68 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสานศิลป์บางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง (จักสานไม้ไผ่) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำคณะเจ้าหน้าที่สอบ โดย ดร.กรกลด คำสุข นางฐิติพัชร์ รวยทรัพย์ นายพรชัย บุญรื่น ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ และนางปราณี จันทวร ร่วมกับพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง จัดการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขางานเครื่องจักสานอาชีพผู้ผลิตเครื่องจักสาน สำหรับงานอนุรักษ์ ระดับ 5 และอาชีพผู้ผลิตเครื่องจักสานร่วมสมัย ระดับ 6 เพื่อเป็นการจูงใจคนในชุมชน และสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มาร่วมกันสร้างผลงาน เอกลักษณ์ท้องถิ่นให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิ วิชาชีพตามมาตรฐานสากล และต่อยอดพัฒนาผู้ผลิต แนวทางการส่งเสริม จูงใจให้กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสาน (ปัจจุบัน) ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เทียบได้กับคุณวุฒิทางการศึกษา (ระดับ 5 เทียบเคียงกับระดับ ปวส. และระดับ 6 เทียบเคียงกับปริญญาตรี) อีกทั้งเป็นการร่วมกันพัฒนาเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากล และต่อยอดพัฒนาผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ในการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของส่วนราชการ และแนวทางการยกระดับผู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดอ่างทองให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ
ด้าน ดร.กรกลด ระบุว่าการรับรองมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่ตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้ จึงเป็นอีกช่องทางที่ไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วย

สำหรับการทำเครื่องจักสาน ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง ตั้งอยู่ตำบลบางเจ้าฉ่า เป็นแหล่งหัตถกรรมจักสานจากไม้ไผ่ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอ่างทอง โดยมีการพัฒนางานฝีมือได้ตามความต้องการของตลาด และมีการส่งออกจำหน่ายขายต่างประเทศ ชุมชนแห่งนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยสมัยก่อนจักสานเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้า กระบุง ป้านน้ำชา ของที่ใช้ดักจับสัตว์ ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นของใช้ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นของกำนัลให้กับผู้ใหญ่ เพื่อนสนิทในวันสำคัญต่างๆ ทางราชการจึงถือเอาเครื่องจักสานเป็นคำขวัญประจำจังหวัด
ต่อมาได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานเป็นรูปทรงอื่นๆ และรูปแบบใหม่ ให้มีความทันสมัย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศผลิตภัณฑ์มีความประณีต สวยงาม รูปแบบมีการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ลวดลายมีการปรับประยุกต์โดยนำลายผ้ามาผสมผสานใส่ในตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มความแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สีสันมีความหลากหลาย ออกไปในแนวคลาสสิก


ในวันนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังได้จัดการประเมินผู้ผลิตเครื่องจักสานของกลุ่มจักสานบ้านตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง (จักสานไม้ไผ่) และกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง (จักสานผักตบชวา) รวมทั้งจังหวัดเกือบ 40 คน ที่เข้ารับการประเมินเพื่อการันตีผลิตคุณภาพซึ่งผลิตโดยมืออาชีพจักสานในจังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่แรกของไทยอีกด้วย