ข่าวทั่วไป

องคมนตรีติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออกและความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

องคมนตรีติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออกและความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่ใช้เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง

 


วันนี้ (1 ม.ค.64) ที่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง สนามบินท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรีและประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณการปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออก โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2564 และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 8 หน่วย 5 ภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองในอากาศ การเติมน้ำในเขื่อน และช่วยบรรเทายับยั้งพายุลูกเห็บ ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.จันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนคม 2564 เป็นตันไป โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิด CARAVAN จำนวน 3 ลำ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศของพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ระยอง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงตามภารกิจดังกล่าว และได้ปรับเป็นฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดระยอง ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1-23 กุมภาพันธ์ 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 วัน 37 เที่ยวบิน มีฝนตกรวม 10จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จำนวน 9.020 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ รวม 6 แห่ง สามารถเติมน้ำตันทุนให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำได้ 8.020 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ ที่มีแผนการปรับปรุงและพัฒนาเป็นรันเวย์ราดแอสฟัลติกส์คอนกรีต ปัจจุบันได้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้วตามแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย การปรับพื้นผิวถางวัชพืชเพื่อปรับระดับพื้นที่ก่อสร้าง ดำเนินการลงหินคลุกบดอัดแน่น การปูยางทางวิ่ง A/C Hot Mixed ความหนา 10 เซนติเมตร พร้อมชั้นฐานและการขุดคูระบายน้ำหรือคูดิน สำหรับในระยะที่ 2 จะดำเนินการทาสีตีเส้นจราจรสนามบินและงานระบบไฟฟ้าสนามบิน โดยสนามบินท่าใหม่จะเป็นฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เตือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสนามบินอยู่ทางด้านต้นลม ในฤดูแล้งของช่วงเวลาดังกล่าวจึงสามารถบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ปลูกไม้ผลของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และสระแก้วตอนล่างได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้สนามบินเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น รองรับเครื่องบินขนาดเล็ก(CARAVAN) และเครื่องบินขนาดกลาง (CASA) โดยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่าทั้งด้านการปฏิบัติการฝนหลวง และการสนับสนุนภารกิจทางการทหารและความมั่นคงได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยทรงห่วงใยราษฎรและให้คิดถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยเป็นหลัก

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย  พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก