ปทุมธานีกองทุนการออมแห่งชาติกับสมาชิกสหกรณ์
วันนี้ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพูดคุยกับท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามหรือเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ ที่เรามักได้ยินในสื่อต่างๆพูดกันว่า กอช. นั่นแหละค่ะ ผู้เขียนได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนกันกับท่านผู้อ่าน เนื่องจากได้เล็งเห็นว่ากองทุนการออมแห่งชาตินี้เป็นกองทุนใหม่เพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัย หลายคนสงสัยว่ากองทุนนี้มีที่มาอย่างไร สมัครอย่างไร และให้ผลตอบแทนอย่างไร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสหกรณ์ของเราว่าจะมีโอกาสเข้าถึง หรือได้รับประโยชน์อย่างไรกับการที่จะเข้าเป็นสมาชิกกองทุนนี้ ซึ่งเราจะได้พูดคุยและได้แนะนำแนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อตัวสมาชิกสหกรณ์และประชาชนผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงสวัสดิการในยามสูงวัย และเป็นหลักประกันรายได้ส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพแก่สมาขิกสหกรณ์ได้ในยามจำเป็น ดังสโลแกนที่ว่า “อนาคตสดใส ด้วยพลังเงินออม”
ในช่วงต้นนี้ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของกองทุนนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในเบื้องต้น กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เริ่มดำเนินการครั้งแรกวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เป็นกองทุนการออมเพื่อวัยสูงอายุที่ให้สิทธิประชาชนสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ และแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นกองทุนที่จะทำให้ประชาชนคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญสามารถมีบำนาญได้เช่นเดียวกับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานเอกชน โดยรัฐบาลได้ชูจุดเด่นของของกองทุนนี้ คือต้องการให้คนไทยทุกคนมีบำนาญไว้ใช้ยามแก่ชรา ซึ่งฟังดูก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว และหลายๆคนก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า ใครกันที่เข้าถึงหรือสมัครเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้ โดยผู้ที่มีคุณสมบัติและมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ มีสัญชาติไทย อายุไม่น้อยกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี เป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้มีอาชีพเกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง ไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือก 1 (ผู้ประกันตนจ่ายเองเดือนละ 70 บาท ได้รับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วย ,ตาย,พิการ และไม่มีบำเหน็จบำนาญ) และขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่าบุคคลที่ไม่เข้าข่ายหรือมีคุณสมบัติที่จะสมัครได้ คือ ข้าราชการประจำ หรือสมาชิก กบข. (มีบำเหน็จบำนาญ) ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 (ทางเลือก 2 และ 3 (มีบำเหน็จ) และพนักงานบริษัท/องค์กร (มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา รวมถึงสามารถสมัครได้ที่ สำนักงานคลังจังหวัด และสถาบันการเงินชุมชนที่ร่วมกับ กอช. แอปพลิเคชัน กอช. ทั้งระบบ IOS และ Androil เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ นอกจากช่องทางเหล่านี้จะเป็นช่องทางในการรับสมัครสมาชิกแล้ว ยังเป็นช่องทางรับฝากเงินสะสมจากสมาชิกกองทุนอีกด้วย โดยหลักฐานที่ใช้ในการสมัครมีเพียงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวเท่านั้น
หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงคุณสมบัติและวิธีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ มาแล้วหลายท่านก็คงสงสัยใคร่อยากรู้อีกว่า เมื่อสมัครเป็นสมาชิกกองทุนแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ผู้เขียนจึงใคร่ขอขยายให้ผู้อ่านได้ไขข้อข้องใจกันว่า สิ่งที่สมาชิก กอช. จะได้รับคือ เงินสะสม ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินที่รัฐสมทบให้ อีกทั้งรัฐจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง ขณะเดียวกันก็สามารถนำเงินฝากในแต่ละปีไปยื่นลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย นอกจากจะได้ฝึกเรื่องวินัยการออมแล้ว สมาชิกจะมีเงินที่ได้จากการส่งเงินสะสมไว้ใช้ในยามแก่ชรา เปรียบเสมือนเงินบำนาญและที่พิเศษคือ เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไป โดยเงินสะสมที่รัฐจ่ายให้กับสมาชิกจะมีสัดส่วนสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น กล่าวคือ ผู้สมัครที่มีช่วงอายุ 15 – 30 ปี สมาชิกส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 1,200 บาทต่อปี สูงสุด 13,200 บาทต่อปี (ขั้นต่ำ 50 บาท/ครั้ง/เดือน) รับเงินสมทบสูงสุด 600 บาทต่อปี (50%ของเงินสะสมไม่เกิน 600บาทต่อปี) ช่วงอายุ 30 – 50 ปี สมาชิกส่งเงินเท่ากันกับช่วงอายุ 15-30 ปี ได้รับเงินสมทบสูงสุด 960 บาทต่อปี (80%ของเงินสะสมไม่เกิน 960บาทต่อปี) ช่วงอายุ 50 – 60 ปี สมาชิกส่งเงินเท่ากันกับช่วงอายุ 15-30 ปี ได้รับเงินสมทบสูงสุด 1,200 บาทต่อปี (100%ของเงินสะสมไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี) โดยที่สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติต้องเริ่มสะสมเงินงวดแรกพร้อมกับการสมัครสมาชิก โดยการส่งเงินสะสมจะต้องสะสมไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมเท่ากันทุกเดือนด้วย และมีข้อเปรียบเทียบระหว่างการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติกับการฝากเงินในธนาคารมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ การฝากเงินกับธนาคารผลตอบแทนที่ได้รับคือ เงินต้นและดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ ผลตอบแทนที่ได้รับคือ เงินต้น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินที่รัฐสมทบให้ และรัฐจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง และเมื่อฝากครบจนถึงอายุ 60 ปี ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญไว้ใช้ตลอดชีวิตอีกด้วย โดยที่กองทุนการออมแห่งชาติจะอนุญาตให้สมาชิกถอนเงินออกในกรณีเดียวคือ เมื่อสมาชิกลาออกจากองทุนก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเฉพาะเงินที่สมาชิกสะสมมาและดอกเบี้ยเท่านั้น (ไม่ได้เงินสมทบ) กรณีที่สมาชิกกองทุนได้งานใหม่และเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่นๆ สมาชิกก็ยังคงสถานภาพความเป็นสมาชิกและมีสิทธิ์ส่งเงินสะสมกับกองทุนการออมแห่งชาติได้เช่นเดิม แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ โดยสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจะได้รับเงินเมื่อ อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีเสียชีวิตผู้ได้รับประโยชน์หรือทายาทได้รับเงินเท่าจำนวนเงินในบัญชี (เงินในบัญชี ได้แก่ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์) ของแต่ละบุคคล และกรณีได้รับบำนาญเมื่อสมาชิกมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และยอดเงินในบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของสมาชิกมีจำนวนมากพอ สมาชิกจะได้รับบำนาญรายเดือน ซึ่งจะได้รับไปตลอดชีพ โดยกองทุนการออมแห่งชาติจะจ่ายบำนาญให้กับสมาชิกทุกเดือนๆละเท่าๆกัน แม้ว่าจำนวนเงินในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกจะหมดลงไปแล้วก็ตาม กองทุนการออมแห่งชาติจะใช้เงินกองกลางจ่ายบำนาญให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต
เมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบถึงที่มา วิธีการและแนวทางการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว จะเห็นได้ว่ามีประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยาวต่อประชาชนที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่สมาชิกบางส่วนยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการที่รัฐหรือองค์กรเอกชนจัดให้ ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนสมาชิกสหกรณ์และผู้สนใจที่มีคุณสมบัติให้มองหาช่องทางเลือกในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาตินี้ เป็นช่องทางการออมเงินอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้สมาชิกสหกรณ์และประชาชนทั่วไปมีโอกาสในการจะได้รับบำนาญเมื่อถึงวัยเกษียณอีกช่องทางหนึ่ง หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่าประโยชน์ที่เกิดกับสมาชิกระยะสั้น คือเป็นการฝึกวินัยในการออมให้แก่ตัวสมาชิกเอง ทำให้มีกำลังใจที่จะออมในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประโยชน์ในระยะยาว ทำให้มีความมั่นคงทางการเงินในยามวัยเกษียณ ซึ่งช่องทางการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาตินี้ เป็นผลของพลังเงินออมที่ตัวสมาชิกได้ออมเงินอย่างสม่ำเสมอไว้ในคราวที่ยังคงทำงานไหว มีรายได้เพียงพอและการจัดสรรวางแผนทางการเงินอย่างชาญฉลาด ทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน ชีวิตไม่ลำบากในวัยเกษียณหรือในยามที่สูงอายุที่ทำงานไม่ไหวแล้ว นับว่าเป็นการเข้าใจและรู้จักการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์แต่ละท่าน คือการรู้จักการเก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ซึ่งเป็นการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีนั่นเอง