ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวช่วยชาวบ้าน

จังหวัดสิงห์บุรี – สิงห์บุรี – สถานการณ์ และมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ จังหวัดสิงห์บุรี

สิงห์บุรี – สถานการณ์ และมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ จังหวัดสิงห์บุรี

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี ห่วงใยพี่น้องเกษตรกร กำชับให้ปศุสัตว์อำเภอปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในโค กระบืออย่างเคร่งครัด พร้อมเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

วันนี้ 25 พ.ค. 2564 นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ ต.ท่างาม หมู่ 7 หมู่ 10 และ ต.ทองเอน หมู่ 10 จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลให้เกษตรกรผู้เลี้ยง โค กระบือ ทราบถึงการป้องกันควบคุมโรคลัมปี สกิน พร้อมทั้งฉีดยาฆ่าเชื้อ และยาฆ่าแมลงให้ในบริเวณที่เลี้ยงโค กระบือ จากนั้นก็ได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อไปตรวจหาเชื้อโรคลัมปี สกิน


นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือนั้น ได้สั่งการให้ปศุสัตว์อำเภอ ดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำการสื่อสารทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงการใช้วัคซีนภายในฟาร์มเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาการของโรคที่ดูรุนแรงอาจทำให้เกษตรกรมีความตื่นตระหนก และกังวลใจ จึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันพบการรายงานการเกิดโรคแล้ว 35 จังหวัด สัตว์ป่วยจำนวน 6,763 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งในส่วนของ จังหวัดสิงห์บุรี นั้นยังไม่พบเชื้อดังกล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือของจังหวัดสิงห์บุรีมีด้วยกัน 22 ราย มีจำนวนโคกระบือทั้งสิ้น 2,700 ตัว ปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดและเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือให้ทราบครบทั้งจังหวัด และขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการ การควบคุมโรคเพื่อลดการแพร่กระจาย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือโทรสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือและตรวจสอบโดยเร็วต่อไป

ณัฏฐนารา ปานมี ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สิงห์บุรี