ถึงไทยวันนี้ วัคซีน 6 หมื่นโดสล็อตแรกฉีดป้องกันโรคลัมปีสกินในโค -กระบือ กรมปศุสัตว์สั่งเพิ่มอีก 3 แสนโดนฉีดปูพรมแก้ปัญหาระยะยาว
วันที่ 29 พฤษภาคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หลังจากเกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคและกระบือในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับความเดือดร้อนมีโคนม โคเนื้อป่วยติดเชื้อจากโรคลัมปี สกิน โดยมีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ทั้งจังหวัด ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่ากรมปศุสัตว์เร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ 20 จังหวัด โดยวัคซีนล๊อตแรก 60,000 โดส ที่สั่งนำเข้าจากประเทศอาฟริกาจะส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิภายในคืนนี้ จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการอาหารและยา( อย.) ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดที่มีการระบาดหนักทั่วประเทศเพื่อฉีดให้ฟรี และในระยะต่อไปกรมปศูสัตว์สั่งซื้อวัคซีนอีก 3 แสนโดสเพื่อฉีดปูพรมในพื้นที่เสี่ยง แก้ปัญหาระยะยาว
นายประมวล กล่าวว่า ขณะนี้แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ อย่าตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี มีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาผิดกฎหมาย บางรายนำไปหลอกขายให้กับเกษตรกรที่หลงเชื่อ และขอให้รอวัคซีนที่กรมปศุสัตว์นำเข้าเท่านั้น สำหรับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอให้เกษตรกรห้ามเคลื่อนย้ายโคและกระบือ และหลังจากโรคนี้เข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอต้องเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ อย่าให้มีช่องโหว่ในการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายสัตว์
“ ที่ผ่านมามีเบาะแสการใช้รถกระบะลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ไม่ผ่านด่านตรวจในพื้นที่ อ.ทับสะแก และขอให้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครองเข้มงวดการลักลอบนำเข้าโคและกระบือเถื่อนผ่านช่องทางธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน หากหน่วยงานระดับจังหวัดยังมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือมีการร้องเรียน จะรายงานข้อเท็จจริงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯรับทราบเพื่อเร่งรัดผลักดันแก้ปัญหาในระดับนโยบายต่อไป” นายประมวล กล่าว
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคลัมปี สกินในโคกระบือ แล้ว 6 อำเภอ มีโคเนื้อและโคนมป่วยติดเชื้อ 296 ตัวใน 80 ฟาร์ม แบ่งเป็นโคเนื้อ 183 ตัว และโคนม 113 ตัว โดยส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรคในฟาร์มของเกษตรกรในรัศมี 1 กิโลเมตร (กม.) รอบจุดเกิดโรค
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ กล่าวอีกว่า ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) ช่วยสนับสนุนการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในฟาร์มของเกษตรกรเพื่อควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้างมากขึ้น แม้โรคดังกล่าวจะมีอัตราการป่วยของสัตว์เพียงร้อยละ 20-50 และมีอัตราการตายเพียงร้อยละ 10 แต่หากสัตว์ป่วยจะให้ผลผลิตลดลง เช่น เมื่อโคป่วยจะให้น้ำนมลดลง โคเนื้อเติบโตไม่สมบูรณ์ หรือโคที่ตั้งท้องอยู่อาจจะแท้งได้ และจะขอให้จังหวัดประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยกรณีโรคระบาดสัตว์ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เป็นรายหมู่บ้าน เพื่อให้เทศบาลและ อบต.ใช้งบประมาณในเชิงป้องกันได้
//////
คนที่ต้องการพิเศษเรื่องเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 3396 4 4 4