ข่าวทั่วไปข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวพาดหัว

สิงห์บุรี – ครูตีดาบบ้านระจัน ผู้ถ่ายทอดอัตลักษณ์ดาบโบราณสู่สายตาชาวโลก

สิงห์บุรี – ครูตีดาบบ้านระจัน ผู้ถ่ายทอดอัตลักษณ์ดาบโบราณสู่สายตาชาวโลก

 

เมื่อพูดถึงจังหวัดสิงห์บุรี ทุกคนจะนึกถึงวีรชนชาวบ้านบางระจัน ที่ถือดาบสู้รบกับข้าศึกเมื่อครั้งอดีตกาลที่ผ่านมา ดาบมีหลายรูปแบบจนคนปัจจุบันแทบไม่สนใจแล้วว่าดาบแบบไหนเรียกว่าอย่างไรกันบ้าง ดาบที่เหล่าวีรชนถือบนอนุสาวรีย์วีรชน อ.ค่ายบางระจัน อยู่นั้นเรียกว่าดาบอะไร คงหาคนที่จะตอบถูกได้น้อย ซึ่งดาบนั้นเรียกว่า “ดาบรูปทรงใบข้าว” ที่มีลักษณะอ่อนช้อย ปลายเรียวโคนเล็ก รูปทรงสง่างาม มีด้ามพันด้วยหวายถักละเอียดลงครั่ง ขนาดความยาวตัวดาบ 24 นิ้ว ด้าม 14 นิ้ว รวมความยาวทั้งเล่ม 38 นิ้ว และยังมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นคือส่วนใหญ่จะมีกระบังมือเล็กๆ ตรงโคนดาบอีกด้วย ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะเลิกใช้ดาบเป็นอาวุธในการต่อสู้โดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ด้วยความงดงามของศิลปะการตีดาบจากช่างสกุลต่างๆ ในอดีต ทำให้หลายคนยังมีความหลงใหลอยากเก็บสะสมดาบไทยเก่าๆ เอาไว้ เพื่อสนองตอบความชอบส่วนตัว และยังสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยต่อไปได้ เพื่อไม่ให้อาชีพการตีดาบนี้หายไปจนกลายเป็นความทรงจำ เราจึงต้องมาฟื้นฟูความรู้ในเรื่องการตีดาบที่กว่าจะผ่านขั้นตอนจนเป็นดาบที่ใช้สู้รบนั้นเป็นมาอย่างไร

ลุงตึ๋ง นายเดือน เปียสงวน อายุ 68 ปี ช่างตีดาบในตำนานแห่งบ้านบางระจัน ผู้ซึ่งกำค้อนทุบตีดาบมามากต่อมากจนนับไม่ถ้วนเป็นเวลากว่า 40 ปี จากจุดเริ่มต้นด้วยใจรัก ขวนขวายเรียนรู้กับพ่อตา รับการถ่ายทอดวิชาตีดาบมาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นอาชีพสร้างตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบ้านลุงตึ๋ง เห็นลุงตึ่งกำลังตีดาบด้วยความร้อนสูงถึงขนาดช่างภาพต้องถอย เมื่อสอบถามถึงขั้นตอนการตีดาบ ลุงตึ๋งกล่าวว่า ด้วยขั้นตอนแรกคือใช้เหล็กอย่างดีจากญี่ปุ่นมาขึ้นรูปด้วยไฟ ในส่วนของไฟก็ใช้ถ่านและต้องเป็นถ่านไม้ไผ่เท่านั้นเพราะให้ความร้อนสูง ทางทีมงานจึงได้ถ่ายทำวิธีการตีดาบตามขั้นตอนต่างๆของลุง ลุงตึ๋งตีดาบไปเล่าไปว่าการตีดาบนี้เป็นการตีดาบแบบโบราณ ทำด้วยมือทุกขั้นตอน ใช้การตีขึ้นรูปจริง บางวันก็มีหลานๆ มาช่วย ซึ่ง ลุงตึ๋ง บอกว่าการตีดาบนั้น สำคัญต้องมีความรักในอาชีพ หากเกิดจากใจรักทุกอย่างก็จะง่ายและเรียนรู้ได้ไว เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความใส่ใจ พิจารณากลั่นกรองให้ละเอียด และในปัจจุบันการตีดาบแบบโบราณนับวันจะเลือนหายไป จนแทบจะหาชมไม่ได้อีก แต่ที่นี่บ้านระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ยังมีการตีดาบแบบโบราณหลงเหลืออยู่ เพื่อให้ลูกหลานและคนทั่วไปได้เห็นและเรียนรู้กระบวนการทำว่าการจะได้มาซึ่งดาบในแต่ละเล่มนั้น ต้องใช้ความมานะอดทนเพียงใด นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และคนสิงห์บุรีไม่น้อยเลยทีเดียว

แรกเริ่มเลยเตรียมเหล็กหัวแดงที่มีความแข็งและเหนียวเหมาะที่จะนำมาทำมีดดาบโดยเฉพาะ ตัดเหล็กให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วเอามาเผาไฟให้ร้อน โดยจะมีกล่องสูบไม้แบบโบราณอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในเตา ผู้ตีดาบจะสูบส่งลมไปตามท่อที่ต่อไปยังเตาเผา เพื่อเป็นการปรับระดับความเร็วแรงของไฟ ซึ่งเตานั้นจะมีลักษณะเป็นเตาดินเผา ทำจากดินเหนียวปั้นผสมแกลบ มีความแข็งแรง ทนทานและแตกยาก ส่วนถ่านที่ใช้เผาเหล็กก็ต้องใช้ถ่านจากไม้ไผ่เท่านั้น เมื่อเหล็กแดงก็จะนำออกมาวางบนทั่งเพื่อทำการตีรีดขึ้นรูป ปรับทรงทั้งความหนา ความยาว ความเอียง ความเรียบ ขั้นตอนนี้จะต้องใช้ประสบการณ์ค่อนข้างสูง เพราะการตีรีดไม่เป็นจะทำให้เหล็กคดเอียงไปเอียงมา ปรับทรงได้ยาก บางครั้งจึงต้องใช้ค้อนช่วยกันตี หลังจากตีจนได้รูปดาบที่ต้องการแล้ว ก็เป็นการทำผิวให้เรียบ และให้ดาบออกมาเป็นสีขาว รวมถึงเป็นการทำให้คมและบางด้วย โดยจะใช้เหล็กที่ชุบแข็งไว้แล้วมาขูด เป็นลักษณะเหล็กขูดเหล็ก ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างมาก จากนั้นก็นำดาบที่ได้ไปตอกลวดลาย เพื่อเพิ่มความสวยงาม ขั้นตอนสุดท้ายจะนำไปชุบแข็งโดยเอาดาบที่เสร็จแล้วมาเผาไฟอีกครั้งแล้วนำไปจุ่มน้ำ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เนื้อเหล็กมีความแข็งแกร่งมากขึ้นนั่นเอง ดูจากขั้นตอนและกระบวนการทำอย่างพิถีพิถัน แสดงให้เห็นว่าหัวใจของการตีดาบนั้นจะต้องตีจากช่างที่มีฝีมือและมีประสบการณ์มานาน ประกอบกับใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ จึงจะได้ดาบดีที่มีความแข็งแกร่งคงทนจนกลายเป็นอาวุธชั้นดีได้

จากภาพประวัติศาสตร์การรบในสมัยก่อนที่เราเห็นกันจนชินตา คือเหล่าผู้กล้าใช้ดาบเป็นอาวุธประจำกาย จนมีคำกล่าวที่ว่า “หากทหารกล้าขาดซึ่งดาบคู่กายแล้วไซร้ ไหนเลยจะสู้รบเอาชนะข้าศึกได้” แต่การจะได้มาซึ่งดาบที่สวยและคม เหมาะกับมือนักรบสักเล่มนั้น ช่างตีดาบนับเป็นผู้ปิดทองหลังพระก็ว่าได้ เพราะดาบจะต้องผ่านกระบวนการตีจากช่างที่มากด้วยประสบการณ์ สละทั้งหยาดเหงื่อ แรงกาย และภูมิปัญญา หล่อหลอมออกมาด้วยความอุตสาหะ จนกลายเป็นอาวุธที่แข็งแกร่งพร้อมจะฟาดฟันกับอริราชศัตรู ในงานครบรอบ 125 ปีของจังหวัดสิงห์บุรี ทางจังหวัดกำหนดจัดพิธีตีดาบแบบโบราณขึ้น เพื่อจัดสร้างดาบที่ระลึกที่มีลักษณะเฉพาะของจังหวัดสิงห์บุรี จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมพิธีเพื่อจะได้เห็นถึงวิธีการตีดาบแบบโบราณของไทยทุกขั้นทุกตอนอย่างละเอียดร่วมกัน ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นี้ ณ อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยผู้ร่วมพิธีต้องได้รับวัคซีน Covid-19 ครบ 2 เข็มแล้วเท่านั้น และสามารถรับชมผ่านเพจเฟซบุ๊กซ์ “125 ปี สิงห์บุรี” การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นการเผยแพร่ให้คนรู้จักวิชาตีดาบมากยิ่งขึ้น ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าสิงห์บุรียังมีอะไรดีอีกมากมาย ซึ่งนับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกหน้าหนึ่งของชาวจังหวัดสิงห์บุรี

ณัฏฐนารา ปานมี ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สิงห์บุรี