COVID-19ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ปทุมธานี – เอกชนขอนายกตั้งคณะแพทย์วิจัยวัคซีนแห่งชาติเร่งด่วน ช่วยหมอยงวิจัยเทียบวัคซีน

ปทุมธานีเอกชนขอนายกตั้งคณะแพทย์วิจัยวัคซีนแห่งชาติเร่งด่วน ช่วยหมอยงวิจัยเทียบวัคซีน

วันที่ 25 กค. 64 จากที่หมอยง นพ.ยง ภู่วรวรรณได้เปิดเผยผลงานวิจัยว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็มได้ผลดีกว่า 2 เข็ม มีรายละเอียดคือฉีดวัคซีน Inactivated (Sinovac) 2 เข็มตามด้วยวัคซีนประเภท Viral vector (Astrazeneca) อีก 1 เข็มจะทำให้ภูมิต้านทานสูงกว่าการฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็ม โดยนายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ ประธานเครือข่ายเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ได้ให้ความเห็นว่า การฉีด 3 เข็มย่อมดีกว่าฉีด 2 เข็มแน่นอน การวิจัยควรเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในโดสที่เท่ากัน และพิจารณาตัวแปรดังนี้

1. จำนวนโดสที่ฉีด 2. ระยะเวลาที่ภูมิลดลง 3. จำนวน และประเภทของกลุ่มตัวอย่าง 4. ความเสี่ยงอัตราการเสียชีวิต ในการฉีดถ้ายังระบุสาเหตุที่เสียชีวิตได้ไม่ชัดเจนควรใช้ช่วงเวลาหลังฉีดแล้วเสียชีวิตมาแสดงในงานวิจัย ประเด็นสำคัญที่ควรวิเคราะห์คือ 1. ท่านได้ทดลองก่อนทำการสั่งซื้อหรือไม่? 2. ยี่ห้ออื่นที่เป็นเชื้อตายเช่น Sinopharm ในการทดสอบประเภทเดียวกันดีกว่า Sinovac หรือไม่? 3. คุ้มค่าทางราคาหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผลการวิจัยของต่างประเทศ และต้นทุนการฉีดกรณีต้องฉีดซ้ำ? 4. ผู้ฉีด 3 เข็มมีความเสี่ยงการเสียชีวิต หรือได้รับผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นกว่าการฉีด 2 เข็ม? ผลการวิจัยถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปเชิงเปรียบเทียบที่ชัดเจนอาจแถลงได้เป็นระยะโดยแสดงถึงข้อจำกัดให้ประชาชนทราบเป็นระยะ1 – 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีว่าเช่น “ภูมิคุ้มกันลดลงหรือไม่เพราะปัญหาของ Sinovac ไม่ใช่ภูมิไม่ขึ้น แต่เป็นภูมิขึ้นและลดลงอย่างมีนัยยะในทุก 30 วัน” แต่งานวิจัยกลับมุ่งเน้นเรื่องภูมิขึ้นและดีกว่า mRNA เพียงด้านเดียว จึงขอให้หมอยงได้เก็บข้อมูลให้ครบตามระยะเวลาที่พอยอมรับได้ตามมาตรฐานการวิจัย และมีผลเชิงเปรียบเทียบของวัคซีนชิโนฟาร์มด้วยและตัวอื่น จะเป็นประโยชน์มากยอ่งขึ้น และหากวัคซีนดีจริงหมอยงควรแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าสัว กองทัพ และประชาชนได้พิจารณา ความพยายามจะทำให้สำเร็จแต่ต้องไปถูกทิศถูกเวลา “การมีวัคซีนย่อมดีกว่าไม่มี” เช่นเดียวกันกับ “การมีทางเลือกทางวัคซีนย่อมดีกว่าไม่มี” ปัญหาเรื่องยี่ห้อและความล่าช้าของวัคซีนสร้างผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติทางการวิจัยของวัคซีนว่าอะไรดีที่สุด และยังต้องเก็บข้อมูลต่อไป จึงมีความจำเป็นต้องมีวัคซีนทางเลือกและรัฐควรเปิดเสรีให้มีการนำเข้าอิสระอย่างแท้จริงโดยอนุโลมให้ใช้มาตราฐาน who แทนมาตรฐานอย. จนกว่าจะควบคุมโควิดได้

นายธีรวงศ์ยังกล่าวว่า เป็นกำลังใจให้หมอยงในการปฏิบัติหน้าที่ในเวลาที่ผ่านมาด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีเจตนาต้องการช่วยประชาชนให้มีทางเลือกที่ดีที่สุดในงานวิจัยใหม่ๆที่ก้าวล้ำ ซึ่งล้วนเป็นไปตามจรรยาบรรณแพทย์อย่างครบถ้วนและดีเยี่ยมในการช่วยแก้วิกฤตโควิดดังนี้ 1. เน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด (beneficence) 2. สิ่งที่จะทำต้องเน้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มขึ้น (Non-maleficence) 3. ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม(Autonomy) 4. การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมมติฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง(Justice) 5. ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity) 6. แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)

นายธีรวงศ์ยังขอให้ภาครัฐตั้งกลุ่มคณะแพทย์วิจัยวัคซีนแห่งชาติขึ้นเป็นการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทดลอง และวิจัยในประสิทธิภาพของวัคซีนทุกประเภทและยี่ห้อ เพื่อให้ประเทศมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็นทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมและมีความเป็นสากลนั้น ประเทศไทยจะต้องได้ข้อยุติถึงแนวทางที่ดีที่สุดในการฉีดและประเภทวัคซีน รวมทั้งยี่ห้อวัคซีน การทำงานเป็นคณะส่งผลให้งานวิจัยมีความรวดเร็ว ลดข้อจำกัดและข้อผิดพลาดน้อยกว่าการทำงานแต่เพียงคนเดียว