สบอ.3 เดินหน้าป้องกันลัมปี สกิน ในผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน
วันที่ 23 สิงหาคม นายวิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ( สบอ.3 )สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า จากกรณีพบซากกระทิง 1 ตัว ติดเชื้อสลัมปี สกิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงทำการสำรวจ ติดตาม เฝ้าระวังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกันร่วมกับปศุสัตว์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า พื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคลัมปี สกิน
ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล๊อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า หลังจากมีรายงานการระบาดโรคลัมปี สกินในประเทศ พบกระทิงติดเชื้อ 1 ตัว และสัตว์ป่วยสงสัยหลายตัว กรมอุทยานฯ ได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก เตรียมพร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เวชภัณฑ์เพื่อเข้ารักษาทันทีหากพบสัตว์ป่วยหนักอยู่ในป่า รวมถึงการทำแหล่งดินโป่งที่ประกอบด้วยแร่ธาตุ ที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช และเพิ่มวิตามินเพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล เสริมภูมิคุ้มกัน
“ ได้รับการสนับสนุนก้อนแร่ธาตุและวิตามิน 2 ตันจากบริษัท ภัสร์-ฟาร์ม จำกัด ต่อมาพบกระทิงและวัวแดง รวมถึงช้างป่า ลงมากิน นอกจากนี้ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เติมคลังยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน จำนวน 3 จุด ได้แก่ หน่วยพิทักษ์ห้วยคมกฤษ และบริเวณข้างแหล่งน้ำอีกสองแห่ง ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เติมคลังยา 12 จุด จากการติดตามพบว่ามีกระทิงออกมากินแร่ธาตุ วิตามิน หลังจากที่ทำไว้ 1 คืน สามารถถ่ายรูปและประเมินสุขภาพได้ง่าย มีบางตัวพบรอยโรคบริเวณสะโพกทั้งสองข้าง แต่ไม่รุนแรง ยังไม่พบการแพร่กระจายหรือแตกของตุ่มรอยโรค” นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวและว่า ห้องพยาบาลของสัตว์ป่าคือแหล่งดินโป่ง จะเป็นตัวไล่แมลงและพยาธิภายนอกได้ จากการลงไปถูตัว และเกลือเหล่านี้ก็ยังช่วยรักษาบาดแผลได้เป็นอย่างดี
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า ในป่ายังมีสปาบำบัด เช่น ปลัก แหล่งน้ำ เป็นอีกจุดที่สัตว์สามารถเอาดินโคลนมาพอกให้หนา เพื่อป้องกันแมลงกัด สร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ตรงไหนที่มีแหล่งน้ำ ที่ลึกท่วมถึงหลัง ก็ช่วยในการหลีกหนีการกัดของแมลงนำโรคได้เช่นกัน และในป่ายังมีคลังยาที่ซ่อนอยู่ เวลาสัตว์ป่าบาดเจ็บหรือป่วย ก็มักจะกินพืชอาหารในป่าหลากหลายชนิดเพื่อเป็นสมุนไพรรักษาตัวเอง จากการประเมินระยะฟักตัวของเชื้อลัมปี สกิน ที่ 28 วัน หลายพื้นที่ยังไม่พบรายงานการพบซากสัตว์ป่าตายจากการติดเชื้อ แต่ได้ติดตามความรุนแรงของรอยโรคในฝูงว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ /////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 3396 4 4 4