ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ สภ.สุวรรณภูมิ กรณีเพจหมอปลาช่วยด้วย ร้องให้ช่วยชีวิตลูกหลานชาวร้อยเอ็ดพ้นนรก จากศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จ.กาญจนบุรี
วันนี้ พล.ต.ต.ไพโรจน์ มังคลา ผบก.ภ.จว.ร้อยเอ็ด มอบหมายให้ พ.ต.อ.ศิรสัณห์ เยื้อนสงวนชัย รอง ผบก.ภ.จว.ร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ สภ.สุวรรณภูมิ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเพจหมอปลาช่วยด้วย และสื่อมวลชนต่าง ๆ ร้อง ผวจ.กาญจนบุรี ให้ช่วยตรวจสอบศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
พ.ต.อ.ศิรสัณห์ เยื้อนสงวนชัย รอง ผบก.ภ.จว.ร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.ณภัทรพงศ์ สมใจ ผกก.สภ.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มีผู้ปกครองของผู้ป่วยเสพยาเสพติดมีความประสงค์จะนำบุตรหลานส่งบำบัดฟื้นฟู ซึ่งพบว่า ศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูวัดท่าพุราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี รับบำบัดผู้ฟื้นฟูเสพยาเสพติด ซึ่งมีนายจิตติ เศษวงศ์ อาสาสมัครตำรวจชุมชนสุวรรณภูมิ (อส.ตร.) เป็น ผู้ประสานงาน ตามความสมัครใจของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานได้รับการบำบัดฟื้นฟู แต่ไม่อยากให้มีคดีความหรือมีประวัติในการเสพยาเสพติด และมีผู้ปกครองชาวร้อยเอ็ดที่ส่งบุตรหลานเข้าบำบัดฟื้นฟู ในปัจจุบันประมาณ 60 คน และผู้ปกครองหลายคนยืนยันว่า สมัครใจส่งบุตรหลานเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับ สภ.สุวรรณภูมิแต่อย่างใด
ศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูวัดท่าพุราษฎร์บำรุง จ.กาญจนบุรี มีหลักสูตรการฟื้นฟู 1 ปี เป็นหลักสูตร กิน นอน ประจำ หากผู้ป่วยรายใดหรือผู้ปกครองของผู้ป่วยประสงค์จะส่งผู้ป่วยไปบำบัดพื้นฟูการเสพยาก็แสดงความจำนงค์ได้ ค่าใช้จ่ายในการเข้าฟื้นฟูที่มูลนิธิดังกล่าว มีดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายให้กับมูลนิธิ 1 ปี 10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายใน 1 เดือนแรก อีก 2,000 บาท รวมเป็น12,000 บาท
2. ค่าบริการ ค่ายานพาหนะ ของอาสาสมัครตำรวจชุมชน 12,000 บาท
3. ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ผู้ปกครองต้องจ่ายให้กับมูลนิธิ วันละ 60 บาท เฉลี่ยประมาณ เดือนละ 1,800
– 2,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ มูลนิธิ จะประสานกับผู้ปกครองของผู้ป่วยโดยตรง เป็นรายเดือนหรือแล้วแต่จะตกลงกัน
4. ค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายให้กับมูลนิธิและค่าบริการยานพานะของอาสาสมัครตำรวจชุมชน ผู้ปกครองหรือผู้ป่วย จะต้องจ่ายในวันเดินทางถึงมูลนิธิ
ขั้นตอนการเข้ารับการบำบัด
1. ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองผู้ป่วยประสงค์จะส่งเข้ารับการบำบัดซึ่งส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการคุ้มคลั่งหรือ จะทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายผู้อื่น ผู้ปกครองก็จะโทรศัพท์มายังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเหลือ
2. เมื่อผู้ป่วยหรือผู้ปกครองยินยอมสมัครใจจะส่งเข้าฟื้นฟู อาสาสมัครตำรวจชุมชนสุวรรณภูมิ ก็จะอำนวยความสะดวก โดยการนำผู้ป่วยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลภูมิลำเนาว่า มีโรคติดต่อต้องห้าม ที่มูลนิธิกำหนดไว้หรือไม่ หากไม่มีทาง อาสาสมัครตำรวจชุมชนสุวรรณภูมิจะมาขอหนังสือรับรองการส่งตัวจาก สภ.สุวรรณภูมิ ว่าเป็นบุคคลในพื้นที่ ที่มีความประสงค์จะเข้ารับการบำบัดหรือผู้ที่ผู้ปกครองร้องขอ จากนั้น อาสาสมัครตำรวจชุมชนสุวรรณภูมิ ก็จะใช้ยานยานพานะส่วนตัวควบคุมตัวไปส่งที่มูลนิธิดังกล่าว ซึ่งส่วนมากผู้ปกครองจะเดินทางไปด้วย
3. ในระหว่างการบำบัดฟื้นฟู อาสาสมัครตำรวจชุมชนสุวรรณภูมิก็จะประสานงานกับผู้ปกครองให้ทราบถึงความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ในช่วงที่รับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ไปส่งหรือรับฝากสิ่งของเครื่องใช้ไปมอบให้ผู้ป่วยด้วย โดยส่วนของข้าราชการตำรวจ สภ.สุวรรณภูมิ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำผู้ป่วย ผู้ปกครอง เท่านั้น อย่างไรก็ตามในทางจิตวิทยาแล้ว การสืบทราบประวัติการเลี้ยงดูผู้ป่วย ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจ และจิตใจอ่อนแอ มีปัญหาเรื่องความประพฤติ ไม่เชื่อฟังผู้ปกครองหรือญาติในวันที่นำตัวไปส่งมูลนิธิ ส่วนมากจะมีอาการเสพติดขั้นรุนแรง
ขบวนการบำบัดฟื้นฟู มี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. การบังคับบำบัด วิธีการเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 โดยเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาไม่สมัครใจฟื้นฟู และเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ก็จะจับกุมส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ส่งต่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งฟื้นฟู หากผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟูของศาลก็ไม่ต้องฟ้องต่อศาล ผู้ต้องหาก็จะไม่มีประวัติการต้องคดี
2. การสมัครใจบำบัด แยกเป็น 2 กรณีย่อย ดังนี้
2.1 กรณีผู้ป่วยสมัครใจบำบัดเอง ก็สามารถแสดงตัวต่อ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อตรวจร่างกายว่าเป็นผู้ป่วยในระดับใด หากมีระดับการเสพติดขั้นสูงขึ้น ก็จะส่งบำบัดฟื้นฟูในระดับ รพ.อำเภอ หรือ รพ.จังหวัด หรือ รพ.ศูนย์ที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
2.2 กรณีได้รับการร้องขอจากผู้ปกครองหรือตัวผู้เสพเอง ก็สามารถแสดงตัวต่อตำรวจหรือฝ่ายปกครองเพื่อเข้าอบรมบำบัดฟื้นฟูเป็นช่วงๆ เช่น โครงการฟ้าใส,โครงการวิวัติพลเมือง หรือเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูกับมูลนิธิ หรือองค์กรเอกชน อย่างเช่น กรณีที่เป็นคลิปข่าวพาดพิง สภ.สุวรรณภูมิ ในขณะนี้
พ.ต.อ.ศิรสัณห์ เยื้อนสงวนชัย รอง ผบก.ภ.จว.ร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เกิดกระบวนการป้องกันแก้ไขและบำบัดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้านและชุมชน และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา เพื่อดูแลชุมชนในการป้องกันเหตุอาชญากรรมอันเกิดจากผู้ป่วยจิตเวช ที่มีสาเหตุจากการใช้สารเสพติด เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนและลูกหลานให้ห่างไกลจาก ยาเสพติด