พ่อเมืองร้อยเอ็ด ขึ้นเครื่องบินเล็กตรวจสอบมวลน้ำหลาก ของมวลน้ำชี เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากภาพมุมสูง
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายเอกภาพ พลซื่อ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด , นายคมเพชร สีดามาตร์ ผู้แทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นเครื่องบินเพื่อตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยและตรวจติดตามอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งและห้วยจานใต้ ซึ่งได้เดินทางโดยเครื่องบิน THAI AVIATION ACADEME หมายเลข HS-CHC สามารถนั่งได้ 4 ที่นั่ง พร้อมนักบิน นางสาวแอนไพริน วีรีเค็น เป็นผู้บังคับการบิน โดยมี นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์ในวันนี้
นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการสำรวจลำน้ำชีตลอดทั้งสายตั้งแต่พื้นที่ อำเภอเชียงขวัญ อำเภอจังหาร จนถึงฝายวังยาง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นรอยต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด จากการตรวจติดตามปรากฏว่าปริมาณน้ำในลำน้ำมีปริมาณมาก มีอัตราการไหลที่สูง มีการระบายได้ดี ระดับน้ำสูงใกล้ขอบริมตลิ่ง แต่ยังไม่เอ่อล้นพื้นที่การเกษตร ส่วนมากบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งจะอยู่ในพื้นที่ อำเภอจังหารและอำเภอเชียงขวัญ ส่วนอีก 6 อำเภอได้แก่ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอธวัชบุรี อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภออาจสามารถ และอำเภอพนมไพร ส่วนมากจะเป็นพื้นที่การเกษตรซึ่งปัจจุบันน้ำก้อนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น คาดว่าอีกประมาณ 5-7 วัน มวลน้ำก้อนนี้จะมาถึงพื้นที่ร้อยเอ็ด ซึ่งทางจังหวัดก็จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จังหวัดได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งให้ติดตามสถานการณ์ รวมทั้งได้มีการประชุมเตรียมการซักซ้อมในการช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เตรียมในเรื่องการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค และการอพยพประชาชน โดยเฉพาะผู้เปราะบางในพื้นที่ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงต่างๆ ขึ้นมาอยู่ที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ การบินตรวจติดตามอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย 2 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งซึ่งมีปริมาณเก็บกักน้ำอยู่ที่ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันมีความจุอยู่ที่ 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 32.6% ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างต่ำ จากการตรวจสอบพบว่าน้ำที่จะมาเติมในอ่างมีเพียงน้ำฝนตามธรรมชาติเท่านั้น และยังมีความตื้นเขิน และอ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้มีปริมาณเก็บกักอยู่ที่ 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณเก็บกักอยู่ที่ 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 39.6% ซึ่งมีปริมาณต่ำเช่นกัน การเติมน้ำก็ต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ซึ่งการแก้ไขปัญหาคือต้องสูบน้ำจากลำน้ำเสียวใหญ่ในฤดูน้ำหลากเข้ามาเติมเก็บกักน้ำ จะใช้งบประมาณประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่และต้องใช้งบประมาณมาก โดยทางกรมชลประธานได้ออกแบบเพื่อเสนอของบประมาณเรียบร้อยแล้ว