ร้อยเอ็ด แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เตรียมการช่วยเหลือชาวร้อยเอ็ดที่ได้รับผลกระทบจากอุุทกภัย
จ.ร้อยเอ็ด – แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 15.50 พลโท สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน โดยมี นาย ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, พลตรี วรเชษฐ์ ชวนะนรเศรษฐ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27, พลตรีวีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 27 ได้บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการเตรียมการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางชี้แจงข้อมูลและการประเมินสถานการน้ำ,พื้นที่เสี่ยง และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ชี้แจงพื้นที่การระดมทรัพยากร เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือประชาชน ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้มอบนโยบายที่สำคัญดังนี้
1. การเตรียมการ ให้ดำเนินการให้ก่อนเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดการสูญเสีย เช่น การแจ้งเตือน, การขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง, การจัดสร้างที่พักพิง, การขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง และการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร
2. ให้ ศบภ.มทบ.27 สนับสนุนจังหวัดร้อยเอ็ด ในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งกำลังพล, ยุทโธปกรณ์ อย่างเต็มขีดความสามารถ
3. การรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน ให้ร่วมกับตำรวจ, อพปร.ดูแลอย่างใกล้ชิด
4. เน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติของกำลังพล รวมถึงประชาชนมิให้เกิดอุบัติเหตุ
5. เน้นบทบาทของจิตอาสาเป็นผู้นำในการเข้าช่วยเหลือประชาชน
6.ให้ทำแผนการรักษาพยาบาลและการส่งกลับผู้ป่วยให้มีความเร็ว เพื่อการรักษากำลังพลได้อย่างรวดเร็ว
7.ให้ชลประทานประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และแจ้งเตือน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือให้ทันท่วงที
8. มทภ.2 อนุมัติให้ ศบภ.มทบ.27 สามารถโยกกำลังในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
9. ให้ พล.ร.6 สนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เมื่อได้รับการร้องขอ
จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางตรวจเยี่ยม การสูบการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำบ้านปากบุ่ง ต.พระธาตุ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด พบปะ พูดคุยกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ สร้างการรับรู้ ให้กำลังใจ และสร้างความอบอุ่นใจ ในการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดภัยพิบัติต่อไป