(สระแก้ว) -ใจถึงพึ่งได้” “ประวิตร”ลงพื้นที่สระแก้ว เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ระดม ส.ส.ในสังกัดกว่า 30 ชีวิตจัดแถววัดพลัง ประกาศชัดพลังประชารัฐใจถึงพึ่งได้
ชมคลิป
สระแก้ว – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจลดกระทบประชาชน พร้อมทั้ง ระดม ส.ส.ในสังกัดกว่า 30 ชีวิตจัดแถวแสดงพลัง ประกาศชัด พรรคพลังประชารัฐ ใจถึงพึ่งได้ ขณะที่ ปารีณา ไกรคุปต์ ลงทุนคุกเข่ากราบ
” ผู้สื่อข่าวรายงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยมี นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ ส่วน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำและแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้ง และผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วยผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน กรมศุลกากร และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ได้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองบังคับการ ร.12 พัน.3 รอ. อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังจากนั้นลงพื้นที่ไปดูงานบริเวณจุดก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำห้วยพรมโหด พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ และตลาดโรงเกลือ ซึ่งมีทีม ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ในสังกัดของ พล.อ.ประวิตร ร่วมลงพื้นที่ด้วยกว่า 30 คน อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, นายสมชาย ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, น.ส.ปารีณา ไกรคุุปต์ ,นายสุรศักดิ์ ชิงณวรรณ์ ส.ส.สระแก้ว เขต 3 ร่วมลงพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ จ.สระแก้ว ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 และในระยะยาวรัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมในทุกมิติได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยในวันนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และต้องแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ได้กำชับให้กรมชลประทานต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ได้รับการยอมรับและเกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัด กรมชลประทาน หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับประเทศกัมพูชา ในการระบายน้ำหลากจากประเทศไทยผ่านไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
” หลังจากนี้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง จะได้ไม่เกิดขึ้น เมื่อเราได้สร้างประตูระบายน้ำให้เสร็จทั้งระบบในปี 2570 ก็สามารถที่จะใช้น้ำได้ประโยชน์อย่างมากมาย ซึ่งเราจะมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น อยากบอกชาวอรัญประเทศว่า อยู่ด้วยกันเราต้องรักกันนะครับ เพราะว่าประเทศเราก็มีอยู่เพียงเท่านี้ล่ะ ก็อยากจะฝากกับชาวอรัญประเทศว่า พรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลนั้น ใจถึงพึ่งได้นะ” พล.อ.ประวิตร กล่าวทิ้งท้าย หลังจากนั้นก็รีบเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่ว่าการอำเภอเขาฉกรรจ์ ก่อนชักแถวเข้าบ้านสวนน้ำเขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.สระแก้ว โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษา ,นางขวัญเรือน เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว ทีม ส.ส.สระแก้ว และ ส.ส.ร่วมพรรคกว่า 30 ชีวิต ที่ติดตามลงพื้นที่ครั้งนี้ เข้าร่วมรับรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยห้ามผู้สื่อข่าวเข้าถ่ายภาพและทำข่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันของ จ.สระแก้ว ณ วันที่ 7 ต.ค.64 มีปริมาณน้ำรวม 240.06 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ77% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง ความจุรวม 266 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำ 217.06 ล้าน ลบ.ม. (82%) แหล่งน้ำขนาดเล็ก 1,399 แห่ง ความจุรวม 44 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 23 ล้าน ลบ.ม. (52%) และมีอ่างเก็บน้ำต้องที่เฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่า 90% ของความจุ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพระปรง ห้วยชัน ท่ากะบาก เขารัง คลองเกลือ ช่องกล่ำล่าง เขาดิน ห้วยตะเคียน คลองส้มป่อย และคลองตาด้วง โดย จ.สระแก้ว มีอยู่ในเขต 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโตนเลสาปและลุ่มน้ำบางปะกง มีลำน้ำที่สำคัญคือ คลองพระปรง คลองพระสะทึง ห้วยพรมโหด และลำสะโตน มีพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบและลุ่มน้ำปราจีนบุรีตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักประสบปัญหาด้านอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยเฉพาะ อ.อรัญประเทศ มีชุมชน ย่านการค้าการลงทุน ตลาดการค้าชายแดน
โดยบริเวณลุ่มน้ำคลองพระสะทึง ที่มักเกิดน้ำท่วมน้ำหลากจากเขาสอยดาวไหลล้นคลองพระสะทึง บริเวณ อ.เขาฉกรรจ์ อ.วังน้ำเย็น และ อ.วังสมบูรณ์ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เช่น ระบบคลองผันน้ำและอาคารบังคับน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายลำน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำ เป็นต้น ในส่วนปัญหาด้านภัยแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตเงาฝน มีภาวะฝนทิ้งช่วง และแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่มีพื้นที่การเกษตรมีจำนวนมาก จึงมักประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ อ.ตาพระยา อ.โคกสูง อ.คลองหาด อ.วังสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เช่น จัดทำแหล่งเก็บกักน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ การผันน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง และ การทำฝนหลวง เป็นต้น
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ผลักดันแผนงาน/โครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งดำเนินการโดยหลายหน่วยงานในช่วงปี 2561-2564 รวม 947 แห่ง สามารถเก็บกักปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น 22.1 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 354,495 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 87,855 ครัวเรือน เช่น ระบบส่งน้ำฝั่งขวาโครงการระบบส่งน้ำคลองพระสะทึง การวางท่อขยายเขตจ่ายน้ำพื้นที่ตำบลห้วยโจด ระบบส่งน้ำคลองพระสะทึงฝั่งซ้าย ระยะที่ 1 เขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองพระสะทึง การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และการขุดลอกสระน้ำสาธารณะ 9 แห่ง ในพื้นที่ ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ เป็นต้น ส่วนแผนงาน/โครงการตามงบบูรณาการ ปี 2565 จำนวน 22 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 5,191 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,142 ครัวเรือน เช่น อาคารบังคับน้ำบ้านโคกไพลพร้อมขุดลอก และอาคารบังคับน้ำบ้านโคกสนั่นพัฒนา และการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำโนนหมากเค็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน/โครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน (พรด.) อ.ตาพระยา และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ บ้านหนองสระหิน อ.วัฒนานคร และโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งรองรับเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว อ.อรัญประเทศ ซึ่งเมื่อทั้ง 3 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุน้ำได้ 38.71 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 48,465 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 650 ครัวเรือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่าย พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางไปที่โรงเรียนวังน้ำเย็นวิทยาคม อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เพื่อตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนที่บริเวณโดมโรงเรียน จำนวน 824 คน และมอบทุนการศึกษา จำนวน 100 ทุน ซึ่งมีผู้นำชุมชน และกลุ่มสตรีในพื้นที่เข้าร่วมให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตรด้วย หลังจากนั้นคณะของรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังกรมทหารพรานที่ 13 ค่ายเขาไผ่ ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว และดูสภาพพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของราษฏรเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ถาวรด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศระหว่างการลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีบรรดา ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐติดตามไปทุกจุดที่รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการร่วมตัวเพื่อแสดงพลังชัดเจน ขณะเดียวกัน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ในสังกัด ซึ่งติดตามคอยรับคอยส่งรองนายกฯ เกือบจะทุกจุด ได้ปรากฏภาพว่า ได้เข้าคุกเข่ายกมือไหว้ พล.อ.ประวิตร ด้วยเช่นกัน…นายยุทธนาพึ่งน้อยผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว