COVID-19ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ร้อยเอ็ด – จังหวัดร้อยเอ็ดประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจากน้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง ครั้งที่ 1/2564

จังหวัดร้อยเอ็ดประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจากน้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง ครั้งที่ 1/2564
(วันที่ 4 ตุลาคม 2564) เวลา 16.30 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจากน้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านระบบ Zoom meeting พร้อมด้วยสถานีอุตุนิยมวิทยาร้อยเอ็ด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม


โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 รับทราบการรายงานการคาดหมายลักษณะอากาศและปริมาณน้ำฝนจากสถานีอุตุนิยมวิทยาร้อยเอ็ด
ประเด็นที่ 2 รับทราบการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จากโครงการชลประทานร้อยเอ็ด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง และโครงการส่งน้ำและบำรุง รักษาเสียวใหญ่


ประเด็นที่ 3 รับทราบการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย จากสถานการณ์น้ำ ในลำน้ำชีล้นตลิ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอำเภอ 8 อำเภอ ที่อยู่บริเวณติดลำน้ำชี
ประเด็นที่ 4 จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่ ” และแนวร่องมรสุมที่ พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบนบริเวณจังหวัดชัยภูมิ ทำให้น้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น และมีผลกระทบทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายจังหวัด สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอพนมไพร และอำเภออาจสามารถ


จังหวัดร้อยเอ็ด ได้สั่งการให้นายอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ ที่มีพื้นที่ติดลำน้ำชีบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการ ดังนี้
1) สำรวจข้อมูลบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ และอาศัยอยู่ติดลำน้ำชี โดยให้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีที่กำลังไหลเคลื่อนผ่านจังหวัดขอนแก่น เข้าสู่เขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ดตามลำดับ ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ขนย้ายอพยพสิ่งของที่จำเป็นและมีค่าไว้บนที่สูงได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์
2) สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและป่วยเรื้อรัง คนพิการ เด็ก รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เป็นต้น โดยหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายอพยพ กลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด
3) เตรียมความพร้อมศูนย์พักพิงชั่วคราว สำหรับรองรับผู้อพยพ หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ ให้พร้อม โดยจะต้องมีสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า ห้องน้ำ โรงครัว เป็นต้น
4) หากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุฯ หากเกินขีดความสามารถ ให้รายงานจังหวัดทราบโดยเร่งด่วน เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป


ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์อุทกภัยที่มีความจำเป็นจะต้องมีการเคลื่อนย้ายอพยพเกิดขึ้นให้ทุกภาคส่วน ถือปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อย่างเคร่งครัด