COVID-19ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวประชุม

สช.ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. ประชุมชี้แจงการเปิดโรงเรียนในรูปแบบ On-site และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนในเขต กทม.

สช.ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. ประชุมชี้แจงการเปิดโรงเรียนในรูปแบบ On-site และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนในเขต กทม.

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2564) เวลา 10.00 น. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จัดการประชุมชี้แจง เรื่อง การเปิดโรงเรียนในรูปแบบ On-site และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานครผ่านโปรแกรม Zoom และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live โดยมี นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ผู้บริหาร สช. แพทย์หญิงป่านฤดี นโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครเข้าร่วมชี้แจง โดยมีประธานกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุม และรับชมผ่าน เพจ Facebook Live จาก ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช.

นายพีรศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมเรื่องการเปิดโรงเรียนในรูปแบบ On-site และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานครในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปิดเรียนแบบ On-Site ของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครเข้าร่วมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันทั้งทาง สช. และโรงเรียนเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงเรียนเองก็จะได้สามารถนำข้อมูลไปชี้แจงให้นักเรียน และผู้ปกครองให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าวได้ โดยในกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนเอกชนในระบบจำนวนทั้งสิ้น 696 โรง ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-Site จำนวน 375 โรง (53.88%)

สำหรับแนวทางของการเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากนั้น ให้ปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 34) รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT – RC) 6 มาตรการเสริม (SSET – CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา รวมทั้งโรงเรียนต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในโรงเรียนไว้ด้วย

ด้าน แพทย์หญิงป่านฤดี นโนมัยพิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ประสงค์จะเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรม ให้แจ้งข้อมูลการเปิดดำเนินการให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบ ได้แก่ สำนักอนามัย สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือหน่วยงานต้นสังกัดในกรณีนี้ จะเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเขต และ สช. ดำเนินการกำกับติดตาม ตรวจประเมินตามแผนของสำนักงานเขตอีกครั้ง