พิษณุโลก ชาวปากพิงตะวันตก สืบทอดเลี้ยงไก่เทาทองคำหางขาวไก่สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ชาวบ้านปากพิงตะวันตก สืบทอดการเลี้ยงไก่เทาทองคำหางขาว ไก่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ไก่ที่คนโบราณนิยมหามาเลี้ยงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของซุ้ม เพราะว่าเป็นไก่ที่เทียบชั้นกับไก่เหลืองหางขาว ตำราโบราณ กล่าวไว้ว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
วันนี้( 28 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก หมู่ที่ 2 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิษณุโลก และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลก ร่วมพิธีบวงสรวงและพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ขณะนี้ที่ชาวบ้านที่บ้านปากพิงตะวัน ได้สืบสานรุ่นต่อรุ่น ในการเลี้ยงไก่ชนเทาทองคำหางขาว หรือไก่ชนพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไก่ชนพันธุ์หายาก ได้ให้เยาวชนรุ่นหลัง โดยลักษณะประจำพันธุ์ไก่ชนเทาทองคำ ไก่ชนพระเจ้าตากสินมหาราช ลำตัวจะมีสีเทาอ่อนเหมือนสีขี้เถ้าไม้สุมไฟ สีสร้อยจะเป็นสีเหลืองเหมือนทองคำ จึงเรียกว่าไก่เทาทองคำ ถือว่าเป็นไก่เทาที่มีศักดิ์ศรีและสกุล เหนือกว่าไก่เทาประเภทอื่นๆ และถือว่ามีศักดิ์ศรี และสกุลเทียบเท่าไก่ เหลืองหางขาวในวงการไก่ชน จึงเรียกชื่อไก่เทาทองพระเจ้าตากสินมหาราชว่า “ไก่เทาทองหางขาว” บางท่านเรียกว่า “ไก่เทาทองคำ” หรือไก่เทาฤาษี ซึ่งไก่เทาทองคำเพศผู้จะมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัมขึ้นไป เพศเมีย น้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป
นายสำเริง ยอดเกี้ยว อายุ 67 ปี เจ้าของซุ้มงิ้วงามผู้เพาะพันธุ์ไก่ 4 กษัตริย์ ได้เล่าให้ฟังว่าที่บ้านปากพิงแห่งนี้ เคยเป็นอดีตสนามรบครั้งสำคัญ จนได้รับการกล่าวขานว่า บ้านปากพิงดินแดนยุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ณ วันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้าตากสินนำทัพหลวง ขึ้นมาทางลำน้ำแควใหญ่ เพื่อตั้งสกัดกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ ที่บ้านปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก และทำการรบพุ่งกันเป็นสามารถ การสงครามครั้งนี้ทหารไทยสามารถขับไล่ทัพพม่า จนพ้นจากอาณาเขตประเทศไทยได้สำเร็จ และจับทหารพม่าเป็นเชลยศึกได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยตลอดเวลา 49 วันที่พระเจ้าตากสินได้ประทับอยู่ที่บ้านปากพิง ได้เล่าขานกันว่าพระองค์ได้ทรงเลี้ยงไก่เทาทองคำหางขาว ซึ่งเป็นไก่ที่สง่างามมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้ชาวบ้าน บ้านปากพิงแห่งนี้จึงได้หันมาอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ไก่เทาทองคำหางขาว และส่งเข้าประกวดทำให้คนรู้จักไก่เทาทองคำหางขาวกันมากขึ้น และโด่งดังไปไกลถึงตลาดต่างประเทศ ทำให้ราคาพุ่งสูงถึงหลักหมื่น บางตัวสวยงามมากราคาสูงถึงตัวละ 5 หมื่นบาทเลยทีเดียว
ขณะที่นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ ประธานชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก ได้กล่าวว่าสำหรับไก่เทาทองคำเป็นไก่ที่คนโบราณนิยมหามาเลี้ยงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของซุ้ม เพราะว่าเป็นไก่ที่เทียบชั้นกับไก่เหลืองหางขาว ตำราโบราณ กล่าวไว้ว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก หากมีไว้ประจำบ้านประจำครอบครัวจะส่งเสริมให้ลูกหลานในบ้านร่ำเรียนเขียนอ่านเก่งสำเร็จการศึกเป็นปราชญ์เป็นบัณฑิต มีความรู้ความสามารถสอนคนได้ ดังนั้นไก่เทาทองคำจึงควรมาหาเลี้ยงไว้ประจำบ้าน นอกจานี้ไก่ทีสง่างามแล้วยังเป็นสิริมงคลอีกด้วย ทำให้กระแสการนิยมเลี้ยงไก่เทาทองคำหางขาวได้รับการตอบรับที่ดี ชาวบ้านหันมาเพาะพันธุ์และอนุรักษ์กันเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 และจะมีการจัดประกวดทุกปีในวันที่ 28 ธันวาคม หลังจากพิธีบวงสรวงพระรูปพระเจ้าตากสินมหาราช จึงมีผู้ส่งเข้าประกวดเป็นประจำทุกปี
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก