ข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

จันทบุรี – ประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรีกว่า 500 คนร่วมกิจกรรม รำบวงสรวงถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรีกว่า 500 คนร่วมกิจกรรม รำบวงสรวงถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


ค่ำวันนี้ ( 28 ธ.ค.64 ) ที่ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวนสาธารณะทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี นายอลงกรณ์ แอร์คะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนางสุนิชฌา ทองแย้ม นายกเหล่ากาชาด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดจันทบุรีได้นำกลุ่มพลังมวลชนกว่า 500 คน ร่วมกิจกรรมรำบวงสรวงถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันคล้ายวันปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ มีการกราบถวายบังคมต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ การแสดงขับเสภาเทิดพระเกียรติ ย้อนรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ และมหาวีรกรรมความกล้าหาญของชาวจันทบูรที่ร่วมทัพไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นจึงเริ่มรำบวงสรวงภายใต้มาตรการ

ป้องกันโควิด – 19 อย่างเข้มข้น ผู้ร่วมงานทุกคนต้องแสดงผลการตรวจคัดกรอง ATK ว่าไม่ติดเชื้อโควิด – 19 และแสดงผลการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 2 เข็ม // สำหรับวันที่ 28 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2311 ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ซึ่งเมืองจันทบุรีเคยเป็นดินแดนที่รวมไพร่พลในการกอบกู้เอกราช สำหรับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชประวัติ ดังนี้ เดิมชื่อ สิน ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการศึกเป็นอย่างยิ่ง มีความมานะอดทน กล้าหาญ จึงเจริญในตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ ตามลำดับ คือ เป็นพระยาตาก ได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แต่ยังมิได้ไปครองเมือง พม่าก็ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา จึงอยู่ช่วยราชการในเมืองหลวง ทรงบัญชาการสู้รบกับพม่าอย่างเข้มแข็ง พม่าต้องล่าถอยกลับไปหลายครา หลังจากนั้น 6 เดือน พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีก พระยาวชิรปราการ คิดว่าครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมือพม่าเป็นแน่แท้ เนื่องจากบ้านเมืองระส่ำระสาย ไพร่พลอิดโรย ขาดเสบียงอาหาร และขาดศาสตราวุธ

ประกอบกับขาดการประสานงานที่ดี ระหว่างแม่ทัพ นายกอง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวก ได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา หวังไปรวบรวมไพร่พล เพื่อกอบกู้เอกราชคืนในภายหน้า โดยมีทหารเอกคู่ใจติดตามมาด้วย 4 ท่าน คือ หลวงราชเสน่หา หลวงพรหมเสนา พระยาพิชัยอาสา หรือพระยาพิชัยดาบหัก และพระเชียงเงิน พระราชกรณียกิจที่สำคัญ จนได้สมัญญาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือพระราชกรณียกิจการกอบกู้เอกราช พระองค์ทรงใช้เวลา 5 เดือนเศษ ในการรวบรวมไพร่พลที่เมืองจันทบุรี ได้ทหาร 5,000 คน ต่อเรือรบ 100 ลำ ทรงยกทัพไปต่อสู้กับพม่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นธนบุรี ได้รับชัยชนะในที่สุด เป็นการกอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมา หลังจากเสียกรุงแก่พม่าเพียง 7 เดือน อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้น ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2311 ทรงพระนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขนานนามพระองค์ ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี รวมระยะเวลาทรงครองราชย์ 15 ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ ขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทางรัฐบาล อีกทั้งปวงประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพากันถวายพระเกียรติ ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ ให้เป็นวันที่รำลึก “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก