ข่าวทั่วไปข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยระดมกระบวนงานสร้างการรับรู้เพื่อต่อต้านข่าวปลอมและรับรู้เท่าทันข่าวปลอม

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยระดมกระบวนงานสร้างการรับรู้เพื่อต่อต้านข่าวปลอมและรับรู้เท่าทันข่าวปลอม

นายภุชพงศ์ โนตไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทัน และรับมือกับข่าวปลอม จัดโดยศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ห้องเอ็มเพรสแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิเอ็มเพรส พรีเมียร์ เชียงใหม่ ถนนช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมี สื่อมวลชนคณาจารย์ และผู้สนใจจากหลากหลายสาขาวิชาชีพในภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมสัมมนาอย่างคับคั่ง

ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำการตรวจสอบวิเคราะห์และแจ้งให้ประชาชนได้ทราบอย่างทันท่วงที จึงจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการปฏิบัติการข่าวลือและข่าวปลอม ข่าวมั่ว ข่าวมโน ให้เข้าใจกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์และรับแจ้งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่มุ่งเน้นใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภัยพิบัติ : เกิดตื่นตระหนก กลุ่มสุขภาพ : หลอกลวง กลุ่มเศรษฐกิจ : สูญเสียหลักประกันในการดำเนินชีวิต และกลุ่มนโยบายและความมั่นคง : มีผลกระทบต่อความสงบสุขสาธารณะ


ซึ่งการสัมมนาจะเป็นกลไกในเชิงรุกมีการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ป้องกันข้อมูลมิให้คลาดเคลื่อน ชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนได้ ทั้งในการตรวจสอบ รู้เท่าทัน เข้าใจกระบวนการตรวจสอบและสามารถรับมือกับข่าวปลอมได้ ให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนในสังคม
ซึ่งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เสนอกระบวนการทำงานไว้ดังนี้ คือ รับแจ้งข้อมูลจากประชาชน นำเรื่องมาวิเคราะห์ ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และเผยแพร่ข่าวจริง
หากสงสัยให้แจ้งเบาะแสเพื่อตรวจสอบข่าวปลอมได้ทางช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ เว็บไซต์ ที่ www.antifakenewscenter.com /ช่องทาง Facebook ที่ Anti-Fake News Center Thailand /ช่องทาง Line เพิ่มเพื่อนด้วย LINE ID : antifakenewscenter /ช่องทาง Twitter ที่ @AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์ หมายเลข 1111 ต่อ 87 แล้วแจ้งเบาะแสที่น่าสงสัยกับเจ้าหน้าที่

สำหรับการแพร่ข่าวปลอมจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 ระวางโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการสัมมนา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับทราบแนวคิด “รู้เท่าทัน! วิกฤตการสื่อสารและข่าวปลอมในยุคดิจิทัล” จากอาจารย์วสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการการสร้างการรับรู้ รู้ให้ทันปัญหาข่าวปลอม ข่าวปลอมเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตที่มีการสื่อสารกัน เพื่อช่วงชิงไหวพริบ สร้างความได้เปรียบในการสงครามและการปกครอง ปัจจุบันเมื่อเสพข่าวมักจะสงสัยว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ ต้องตรวจสอบกันเองอย่างรวดเร็ว ตัดสินไม่ได้ว่าข่าวอะไรจริง ข่าวอะไรเท็จ จึงต้องตรวจสอบ และใช้วิจารณญาณเพราะเสียหากต่อบุคคล องค์กร ด้วยการลวงให้เชื่อ หลอกให้แชร์ ดังนั้น ทุกคนจึงควรเป็นผู้รักษาสิ่งแวดล้อมในการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้ ยังได้รับทราบ “แนวทางการรับมือกับปัญหาข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์” โดยคุณพงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้อำนวยการ Online Crisis Management Center Digital PR, Saenruk Arukas ในยุค Digital คนจะเชื่อข่าวจาก Social Media ที่ต่างจากข่าว On Line วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ใช้ AI มาทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป คนไทยไม่ชอบเผชิญหน้ากัน การเผชิญชีวิตต้องสื่อสารผ่านสื่อ และติดตัวพกพาใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา ผู้ทำข่าวปลอมพยายามเลียนแบบข้อเท็จจริงแล้วแฝงสร้างความเชื่อที่ผู้รับสารยังไม่สามารถตรวจสอบได้ทันทีทันใด ดังนั้น ข่าวปลอมจึงเป็นเครื่องมือของผู้มีเจตนาไม่ดี ที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจผิด บิดเบือน เบี่ยงเบน ทำลายความน่าเชื่อถือ เป็นกลลวงที่ใช้ล่อหลอกให้หลงเชื่อ จึงต้องมีสติ ใช้วิจารณญาณตัดสินในเบื้องต้น อย่าฝักใฝ่เชื่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเอนเอียง ควรต้องแจ้งให้มีการตรวจสอบ ก่อนส่งต่อ เพื่อป้องกันความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและสกัดการสร้างแนวร่วมที่อาจต้องการปั่นกระแสให้เกิดการแพร่กระจายข่าวปลอมต่อไป

เครดิตข่าว โดย / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ทีมข่าว ทั่วไทยนิวส์ รายงาน