คดีโกง 40 ล้านสำนักงานจังหวัดส่อบานปลาย เครือข่ายต้านโกงแฉ 12 บิ๊ก ขรก.เอี่ยวส่วนแบ่ง ยอดเงินหายจริง 59 ล้านบาท ลูกจ้างหญิงรับ 5 ล้าน รับผิดคนเดียว
กรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 30 ปี อดีตพนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของราชการเกือบ 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS อ้างว่านำเงินจากการทุจริตไปเล่นพนันออนไลน์ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม มีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา พ้นการคุมขังจากเรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 หลังครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด รวม 84 วัน ขณะที่ล่าสุดอัยการคดีทุจริตภาค 7 ยังไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย
ความคืบหน้า วันที่ 11 มีนาคม จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายได้รับข้อมูลใหม่ เพื่อนำไปมอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากมียอดเงินที่มีการทุจริตกว่า 59 ล้านบาท มีข้าราชการระดับสูง 12 จากหลายหน่วยงาน เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ 1 ราย เข้าข่ายต้องชดใช้เงินคืน ภายหลังสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานผลการสอบวินัย สั่งลงโทษนางกัลยารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกปลดออกจากราชการ นางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินและบัญชี ถูกไล่ออกจากราชการ นายกันตพล สุดพิมศรี หัวหน้างานอำนวยการ ถูกลดขั้นเงินเดือน
“ มีเบาะแสจากบุคคลใกล้ชิดอดีตรองผู้ว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งจากสำนักงานจังหวัด ขอเข้าพบที่ห้องทำงานชั้น 2 ศาลากลางจังหวัด เพื่อให้รองผู้ว่าฯช่วยเหลือในทางคดี เนื่องจากทราบว่ามีความใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและขอให้เจรจากับสื่อมวลชนรายหนึ่งที่สนิทสนมเป็นการส่วนตัวให้ยุติการนำเสนอข้อมูล โดยรองผู้ว่าฯแจ้งว่า หากต้องการให้ช่วยเหลือ ขอให้ข้าราชการดังกล่าวพูดความจริงทั้งหมด จากนั้นมีการระบุว่าพบการทุจริตวงเงิน 59 ล้านบาท เพื่อให้ปัญหายุติในระยะสั้น น.ส.ขนิษฐา ผู้ต้องหาจำเลยที่ 1 ได้รับเงินสด 5 ล้านบาท เพื่อให้รับสารภาพเพียงรายเดียว จากการแจ้งความดำเนินคดี พร้อมอ้างว่ามีการวิ่งเต้นไม่ให้ ป.ป.ช.จังหวัดรับคดีนี้ไปสอบสวนหลังพ้นเวลา 30 วันจากการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองประจวบฯเพื่อไม่ให้โยงถึงข้าราชการระดับสูง 2 รายที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ” จ่าเอก เสกสรรค์ กล่าว
จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ทุจริตมีการแบ่งเป็นเงินสด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้อง มีการเบิกจ่ายจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่มีการใช้ลายมือชื่อปลอมของข้าราชการหลายรายในเช๊คไปเบิก แต่ขอให้สถาบันการเงินจ่ายเป็นธนบัตรเก่าที่ผ่านการใช้งานไม่เรียงตามหมายเลข เพื่อสะดวกไม่ให้มีการตรวจสอบขณะนำไปใช้จ่าย สำหรับข้อมูลทั้งหมดที่มีการเปิดเผยทราบว่า มีการบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐาน
“ มีหลักฐานยืนยันว่าลูกจ้างไม่ได้ทำผิดเพียงรายเดียวอย่างชัดเจน แต่มีการจัดฉากให้ลูกจ้างอ้างว่านำเงินไปเล่นการพนันออนไลน์ แต่ไม่มีหน่วยงานของรัฐติดตามเส้นทางการเงิน เครือข่ายฯจึงยื่นร้องเรียน ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมในระบบย้อนหลัง 10 ปี และร้องเรียนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยแก้ไขปัญหาการทุจริต ขณะที่พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งฟ้องคดีให้อัยการคดีทุจริตภาค 7 มีผู้ต้องหา 3 ราย แต่ทราบว่าพนักงานอัยการฯอยู่ระหว่างพิจารณาสั่งการให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาในคดีอาญากับข้าราชการระดับสูงอีกหลายราย
มีรายงานว่า สาเหตุที่พนักงานอัยการคดีทุจริตภาค 7 ยังไม่มีคำสั่งฟ้อง จากเดิมคดีนี้มีผู้ต้องหา 3 รายประกอบด้วยจำเลยที่ 1 น.ส.ขนิษฐา จำเลยที่ 2 น.ส.สายพิณ ดิบดีพร้อม อายุ 62 ปี มาดาของ น.ส.ขนิษฐา จำเลยที่ 3 นางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินและบัญชี ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 เนื่องจากรอผลสรุปการสอบสวนทางวินัยของกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจะพิจารณาโทษในคดีอาญา สำหรับผู้กำกับดูแลและร่วมมอบรหัสการเบิกจ่ายในระบบให้ลูกจ้างกระทำการทุจริต เนื่องจากตามหลักการผู้ที่รอดพ้นจากความผิดทางวินัยจะไม่ต้องโทษในคดีอาญา แต่ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัย อาจมีความผิดร่วมในคดีอาญา
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444