ประจวบคีรีขันธ์ ประจวบเอาจริง ลุยตรวจแผงขาย แอบสวมรอยทุเรียนป่าละอู หลอกขายนักท่องเที่ยวในราคาแพง เตรียมถอดใบอนุญาต GI ทุเรียนป่าละอู
วันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน , นายมนตรี มานิชพงษ์ ปลัดอำเภอ , นายวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัด , น.ส.ภัสศรัณย์ ชำนาญกิจ พาณิชย์จังหวัด, นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หัวหิน และ อส. ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าจำหน่ายทุเรียน บริเวณริมถนนทางหลวงหมายเลข 37 (บายพาสชะอำ-ปราณบุรี) คาบเกี่ยว ต.ทับใต้ และ ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน
หลังได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่า ได้ซื้อทุเรียนป่าละอูจากร้านค้าริมถนนบายพาส พบว่าทุเรียนไม่ได้คุณภาพ เป็นทุเรียนอ่อน เบื้องต้นปลัดอำเภอหัวหินพร้อมด้วยเกษตรอำเภอหัวหิน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พบป้ายร้านค้าระบุว่าจำหน่ายทุเรียนป่าละอู นอกจากนั้นยังติดสติ๊กเกอร์ระบุว่าเป็นทุเรียนในโครงการพระราชดำริ หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู ด้วย เบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อมูลจากสวนทุเรียนป่าละอู พบว่า ในช่วงนี้ยังไม่มีผลผลิตทุเรียนป่าละอูออกมาจำหน่าย มีเพียงทุเรียนหลงฤดูที่ออกมาก่อนหน้านี้สวนละไม่กี่ลูกเท่านั้น
ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว จึงเข้าข่ายการหลอกลวงนำทุเรียนจากแหล่งผลิตอื่น มาติดสติ๊กเกอร์สวมรอยจำหน่ายว่าเป็นทุเรียนป่าละอู ซึ่งเป็นทุเรียนหมอนทอง GI ชื่อดังของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เพราะมีรสชาติหวานมัน กลิ่นไม่ฉุน เปลือกบาง เม็ดลีบ เนื้อเยอะ โดยเบื้องต้นในวันนี้ สามารถตรวจสอบ พบผู้กระทำความผิด จำนวน 1 ร้าน ขณะที่ร้านค้าอื่นอีก 7 ร้านบนถนนบายพาส คาดว่าจะรู้ตัวจึงปิดร้านทั้งหมด โดยเตรียมแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีตามประกาศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ฤดูกาลผลิต ปี 2565 ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื้อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือ ปริมาณแห่งของนั้น อันเป็นเท้จ ถ้ากระทำดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เนื่องจากทุเรียนป่าละอู ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นชื่อเสียงของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความกังวลและเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อกรณีที่นักท่องเที่ยวร้องเรียนกรณีการซื้อทุเรียนในราคาสูงแต่คุณภาพไม่ใช่ทุเรียนป่าละอู เชื่อว่าเป็นการสวมชื่อทุเรียนป่าละอู โดยนำทุเรียนจากแหล่งผลิตอื่นมาจำหน่ายแทน ซึ่งคุณภาพจะไม่เหมือนกัน โดยข้อเท็จจริงขณะนี้ ทุเรียนป่าละอูยังไม่แก่ ผลผลิตเพิ่งออกได้ไม่นาน กรณีนำทุเรียนจากแหล่งอื่นมาขายแล้วสวมชื่อเพื่อให้ขายได้ในราคาสูง อย่างลูกที่ยกตัวอย่างนี้ ราคา 800 บาท ซึ่งราคาแพงมาก ขณะที่นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ระบุชัดทุเรียนป่าละอูยังไม่ได้ออกจำหน่าย ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการ GI ทุเรียนป่าละอู ทั้งนี้ทางจังหวัดจะเรียกประชุมคณะทำงานพิจารณาอนุญาตใช้ตรา GI ทุเรียนป่าละอู เพื่อทบทวนการออกใบอนุญาตด้วย เพื่อเป็นมาตรการทางปกครอง ส่วนมาตรการทางกฎหมาย จะให้สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เข้ามาร่วมในการพิจารณาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยจะดำเนินการในส่วนของ GI ก่อนเป็นลำดับแรก
“ผู้ประกอบการควรซื่อสัตย์กับลูกค้า หากนำทุเรียนจากแหล่งใดมาจำหน่ายให้บอกตามจริง จะขายราคาเท่าไหร่ คงไม่มีปัญหา เพราะขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจของผู้บริโภค แต่กรณีนี้เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ทุเรียนป่าละอู ยอมจ่ายในราคาสูงเพื่อให้ได้ของแท้ ไม่ใช่ราคาสูงแต่ไม่ใช่ของแท้ดังกล่าว ฝากเตือนไปถึงร้านค้าที่ฉวยโอกาสสวมชื่อทุเรียนป่าละอู ให้เลิกพฤติกรรม เพราะไม่คุ้มกับชื่อเสียงที่เสียไป เพราะกว่าจะพัฒนาจนได้สัญญาลักษณ์ GI ทุเรียนป่าละอูไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน ทางจังหวัดประจวบและทุกจังหวัดทั่วประเทศ จริงจังกับกรณีการจำหน่ายทุเรียนอ่อนอย่างมาก เพราะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคมีโทษทางกฎหมายชัดเจน” ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ กล่าว
ทางด้าน นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน เริ่มมีผลผลิตทุเรียนป่าละอูบ้างแล้ว แต่ผลผลิตชุดแรกมีน้อยมาก แค่เพียง 170 ลูกเท่านั้น ซึ่ง 60-70 ลูกเป็นทุเรียนของสวนนายบอย ม.7 บ้านคลองน้อย ส่วนที่เหลือกระจายไปตามสวนต่าง ๆ สวนละไม่กี่ลูกเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวเพียงพอสำหรับขายที่สวนเท่านั้น ยังไม่มีพอให้นำไปจำหน่ายที่อื่น สำหรับการสวมชื่อทุเรียนป่าละอูเพื่อจำหน่ายดังกล่าว ตนมองว่า ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เพราะทุเรียนป่าละอูยังไม่มีจำหน่ายที่อื่นอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีผลกระทบเรื่องคุณภาพของทุเรียน ทั้งรสชาติ และความเชื่อมั่น เพราะผู้บริโภคที่นำทุเรียนไปรับประทานแล้วจะรู้ว่ารสชาติไม่เหมือนกับทุเรียนป่าละอูแน่นอน ทำให้ทุเรียนป่าละอูเสียชื่อเสียง ซึ่งไม่ใช่เสียชื่อกับคนป่าละอู แต่เสียชื่อไปทั้งจังหวัด
สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังหลังจากนี้ ทางอำเภอหัวหิน ได้ประสานทางเกษตรอำเภอนำคำสั่งของจังหวัดฯประกาศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ฤดูกาลผลิต ปี 2565 เพื่อคุมเข้มการจำหน่ายทุเรียนป่าละอู เพื่อปกป้องทุเรียนป่าละอูและคนห้วยสัตว์ใหญ่
มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ GI ทุเรียนป่าละอู นั้น คณะทำงานพิจารณาอนุญาตใช้ตรา GI ทุเรียนป่าละอู ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 รายกลุ่ม จำนวน 4 กลุ่ม สมาชิก 82 ราย และรายเดี่ยว จำนวน 79 ราย ส่วนพื้นที่ปลูกทุเรียนปี 2565 จำนวน 16,362 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต จำนวน 10,052 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำนวน 1,898 ราย ซึ่งผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ในฤดูกาลผลิตปี 2565 คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณ 13,460 ตัน
00000
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444