ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เปิดงานประเพณีบุญแข่งเรือ บ้านท่าไคร้ ประจำปี 2565
วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญแข่งเรือ บ้านท่าไคร้ เทศบาลตำบลเสลภูมิ ประจำปี 2565 ณ สนามแข่งขันเรือยาว บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 1 ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดร้อยเอ็ด , นายวีระพงษ์ โคตรพงษ์ นายอำเภอเสลภูมิ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น พ่อค้า ประชาชน และพี่น้องทีมเรือจากหลายพื้นที่ เข้าร่วมในพิธี
จากสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 ที่ได้คลี่คลายลงแล้ว เทศบาลตำบลเสลภูมิ จึงกำหนดจัดงานประเพณีบุญแข่งเรือยาว ประจำปี พ.ศ.2565 ขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนชาวลุ่มแม่น้ำชี ที่มีอาชีพเสริมในการฝึกซ้อมและแข่งขันเรีอยาวในช่วงฤดูกาลออกพรรษา และเพื่อเป็นการฟื้นฟู ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีบุญแข่งเรือลุ่มแม่น้ำชี ปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ให้มีส่วนร่วมส่งเสริมการออกกำลังกาย และการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้มีการแข่งขันเรือยาว ทั้งสิ้น 8 ลำ ขนาดไม่เกิน 40 ฝีพาย เป็นเรีอยาวพื้นเมือง หรือเรือขอนขุด ทำการแข่งขันแบบแบ่งสาย คือ สาย A และสาย B ในรูปแบบที่พบกันหมด ซึ่งภายในงาน ชาวตำบลเสลภูมิ และพี่น้องจากหลายพื้นที่ได้นำเรือยาวมาแข่งขันเพื่อความสามัคคี ความบันเทิง และบูชาแม่ย่านาง มีการบรรยายหรือพากย์เรือ ในการสร้างสีสัน บรรยากาศ ที่ตื่นเต้นเร้าใจ โดยทีมพากย์เรือ ระดับมืออาชีพ สร้างบรรยากาศความสนุกสนานตลอดการแข่งขัน ท่ามกลางเสียงลุ้นของกองเชียร์ ของเรือแต่ละลำที่ดังสนั่นกันทั้งสนามแข่งขัน
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขอชื่นชมชาวบ้านท่าไคร้ ทั้ง 3 หมู่บ้าน ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำชี นอกจากจะมีอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอาชีพเสริมในการสร้างรายได้ จากการฝึกซ้อมฝีพายเรือ เพื่อไปทำการแข่งข้นเรือยาว สร้างรายได้ให้กับครอบครัวชุมชน ตามสนามแข่งขันต่างๆในฤดูกาลออกพรรษา ทั้งยังเล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมเกี่ยวกับสายน้ำ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี ในหมู่คณะ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน ท้องถิ่นสืบไป