สมุทรปราการ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดโครงการ AOT พี่อาสา
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดโครงการ “AOT พี่อาสา” ประจำปี 2563 โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านการดับเพลิงเบื้องต้นในรูปแบบ New Normal แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดพลมานีย์และชุมชนโดยรอบรวม 130 คน
นางอโนชา พลินสุต ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษและมวลชนสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดโครงการ “AOT พี่อาสา” ณ ลานอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดพลมานีย์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยมี นายก้องเกียรติ ก้อนนาค ผู้อำนวยฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัย ทสภ. พร้อม นางดวงสุมาลย์ ชื่นชูจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพลมานีย์และผู้นำชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ
สำหรับโครงการ “AOT พี่อาสา” เป็นโครงการที่ ทสภ. จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านการดับเพลิงเบื้องต้นเมื่อเกิดอัคคีภัย แก่เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนในชุมชนรอบ ทสภ. เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2553 โดยในปี 2563 นี้ทาง ทสภ. ได้จัดให้ความรู้ดังกล่าวแก่เด็กนักเรียนวัดพลมานีย์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ จำนวน 120 คน และประชาชนในชุมชนวัดพลมานีย์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้ได้จัดในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ตามนโยบายของภาครัฐ เช่น การวัดไข้ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน การสวมใส่หน้ากากอนามัย การจัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งการรักษาระยะห่าง โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ฐาน เช่น ฐานฉีดดับเพลิง ฐานก๊าซ และฐานไฟฟ้าลัดวงจร ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และทดลองใช้อุปกรณ์ดับเพลิงได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน
นอกจากการให้ความรู้ทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติด้านการดับเพลิงเบื้องต้นเมื่อเกิดอัคคีภัยแล้ว ยังได้มอบเครื่องดับเพลิงให้แก่โรงเรียนวัดพลมานีย์ และชุมชนโรงเรียนวัดพลมานีย์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิงภายในโรงเรียนและชุมชนด้วย ทั้งนี้ การจัดโครงการ “AOT พี่อาสา” เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่ ทสภ. ให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาการให้บริการควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด การเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport) โดย ทสภ. ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการดับเพลิงเบื้องต้นตามโครงการ “AOT พี่อาสา” แก่เด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553 รวม 11 ปี โดยมีผู้เข้าการอบรมแล้วรวมทั้งสิ้น 1,300 คน
สมุทรปราการ – บุญประสิทธิ์ นุชนารถ รายงาน