ข่าวพาดหัวความเชื่อประเพณีโบราณพระสงฆ์พุทธศาสนา

เชียงราย – ชาวแม่สายกว่า 1,000คนพร้อมใจออกมาใส่บาตรพระอุปคุตกลางดึก สืบสานประเพณี “ตักบาตรเป็งปุ๊ด”

เชียงราย – ชาวแม่สายกว่า 1,000คนพร้อมใจออกมาใส่บาตรพระอุปคุตกลางดึก สืบสานประเพณี “ตักบาตรเป็งปุ๊ด”

เมื่อเวลา 23.30น. คืนวันอังคารที่ 4 ต่อวันพุธ ที่ 5 เม.ย. 2566 ชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมใจกันออกมาสืบสานงานประเพณีตักบาตร วันเพ็ญพุธ หรือ “ วันเป็งปุ๊ด”

โดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวตอก ดอกไม้ ขนม นมเนย ปัจจัย ฯ มาใส่บาตรพระอุปคุต และ พระสงฆ์ สามเณร ตามวัดต่างๆที่พร้อมใจกันออกมาเดินบิณฑบาต ในยามดึก ต่อเนื่องในเช้าวันใหม่ โดยคืนนี้ มีพระสงฆ์ สามเณร ออกมาบิณฑบาต กว่า 100 รูป โดยเริ่มต้นใส่บาตรกันตั้งแต่บริเวณหน้าด่านพรมแดนแม่สาย สะพาน1 มุ่งหน้ามาจนถึง อยกไฟแดงกวงเม้งระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร

โดยมีชาวพุทธมากกว่า 1,000 คน มาจอดรถ ยืนรอใส่บาตรตามริมถนนกันตั้งแต่ 23.00 น. จนทำให้ถนนที่เคยเงียบเหงาในยามค่ำคืน กลับมาคึกคักเพราะเต็มไปด้วยแรงศรัทธาของพี่น้องชาวพุทธอย่างมากมาย

โดยผู้สื่อข่าวพบ นายเอกพล จันทะวงค์ หรือ โค๊ตเอก 1 ใน 13 อดีตนักฟุตบอลทีม หมูป่าอะคาเดมี่ ที่เคยติดถ้ำหลวงฯ ได้พาน้องๆนักฟุตบอลทีม เอกพลอะคาเดมี่ มาใส่บาตรเป็งปุ๊ดร่วมกับชาวบ้านด้วย
สำหรับสถานที่ใส่บาตรเป็งปุ๊ดในแม่สายยังมีอีกหลายสถานที่ๆ มีผู้คนออกมาตักบาตรเป็งปุ๊ด เช่น ถนนริมคลองป่าเหมือด ชุมชนเกาะทราย ฯ

สำหรับ ” วันเพ็ญพุธ ” หรือ ” วันเป็งปุ๊ด ” เป็นประเพณีเก่าแก่ที่จะมีการ ตักบาตรตอนเที่ยงคืน เป็นประเพณีของชาวล้านนา ทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันพระขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธโดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรเกือบทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน

โดยมีความเชื่อกันว่าพระอุปคุตพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากจะออกจากการจำพรรษาเหาะขึ้นมาจากมหาสมุทร (หรือสะดือทะเล) โดยจะแปลงกายเป็นสามเณรน้อย ออกมาโปรดสัตว์ ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นเศรษฐี สุขภาพแข็งแรงรักยืนยาว บังเกิดแต่สิ่งดีที่เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
พระอุปคุตเป็นพระภิกษุองค์สำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ชื่อ “อุปคุต” แปลว่า ผู้คุ้มครองรักษา พระอุปคุตมีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชคือท่านได้ช่วยปราบพญาวสวัตตีมาร ที่มาทำลายงานฉลองเจดีย์ 84,000 องค์ และพิธีสังคายนาพระไตรปิฏก จนพญามารพ่ายแพ้ เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาพระไตรปิฏก เหล่าพระอริยะได้อัญเชิญพระอุปคุต ไม่ให้มารทำลายพิธี ครั้งเสร็จพิธี ล่วงเลยเพล(เวลาพระฉันท์) พระอุปคุตกลับไปที่กุฎิใต้น้ำ แหงนมองขึ้นบนท้องฟ้าเพื่อดูพระอาทิตย์ (ดูเวลา) ด้วยอำนาจบารมี พระอาทิตย์ชักรถทรง ถอยหลังเวลากลับ เพื่อให้พระอุปคุตได้ฉันท์ข้าว จึงเป็นที่มาของพระอุปคุตเอียงคอจกบาตร สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

ปัญธิพงศ์ ศิริโชคธนากูล / ผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงราย โทร.081-4242-292