ข้าราชการไทยข่าวทั่วไปข่าวพาดหัว

ร้อยเอ็ด – ประกอบพิธีเนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

จังหวัดร้อยเอ็ดประกอบพิธีเนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

เช้าวันนี้ 6 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานประกอบพิธีถวายราชสักการะเนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประจำปี 2566 โดยมี นายสนอง ดลประสิทธิ์ ,นายชูศักดิ์ ราชบุรี ,นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย ข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีต่อชาติไทย

โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมผู้เข้าร่วม ได้รับชมวีดิทัศน์ ชุดสารคดีเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี จากนั้น ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา และได้ถวายเครื่องราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จุดธูปเทียน เครื่องทองน้อย และกล่าวถวายอาศิรวาทราชสดุดี และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทั้ง 10 รูป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 46 พรรษา และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร(หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า “สงครามเก้าทัพ” นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง